bih.button.backtotop.text

รู้ทันพฤติกรรม ทำลายกระดูก


เพราะปัญหาสุขภาพกระดูกเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โภชนาการที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย หรือจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง โดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว
 

ใครที่เคยมองว่าอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกเป็นเรื่องของผู้สูงอายุคงต้องคิดใหม่ เพราะปัจจุบันเราพบว่าประชากรวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาความผิดปกติ อันเกี่ยวเนื่องกับกระดูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่อาการปวดหลังและคอ ไปจนถึง โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคกระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ หรือโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งสาเหตุสำคัญของอาการเจ็บป่วยก่อนวัยเหล่านี้ มักเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในชีวิตประจำวันนั่นเอง

และนี่คือพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง หากคุณไม่อยากเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกระดูกที่จะตามมา
 

การนั่ง

นั่งไขว่ห้าง
จะทำให้เกิดการกดทับน้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งเป็นผลให้กระดูกคดและโค้งงอ โดยเฉพาะ กระดูกสันหลังและบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการปวดคอและหลังตามมา
นั่งกอดอก
จะทำให้กระดูกหลังช่วงบนสะบักและหัวไหล่ถูกยืดออก ผลก็คือหลังช่วงบนจะงองุ้มและกระดูก ช่วงคอยื่นไปข้างหน้า ซึ่งมีผลต่อการทำงานของเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงที่แขน และอาจเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อที่มืออ่อนแรงและเกิดอาการชา ทั้งนี้ หากกระดูกช่วงคอเกิดการผิดรูป ก็จะทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง และส่งผลเสียต่อการทำงานของหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง นำไปสู่อาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้    
นั่งหลังงอหรือหลังค่อม
โดยเฉพาะในกรณีที่นั่งในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่บริเวณหัวไหล่ และสะโพก และอาจทำให้กระดูกผิดรูปอีกด้วย   
นั่งบนเก้าอี้โดยไม่พิงพนักหรือนั่งไม่เต็มก้น
การนั่งในลักษณะนี้ ทำให้ฐานในการรับน้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่หลังทำงานหนักกว่าปกติ และเกิดเป็นผลเสียต่อกระดูกสันหลัง ทางที่ดีนั้น ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น พร้อมเอนหลังไปที่พนักพิง เพื่อให้ร่างกายถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปที่เก้าอี้ แทนที่จะทรงตัวด้วยกระดูกสันหลังเท่านั้น
 

การยืน

ยืนหลังค่อมหรือแอ่นตัวไปข้างหน้า
จะทำให้ปวดหลังและเกิดความผิดปกติของแนวกระดูกช่วงล่าง การยืนหลังตรง และเกร็งหน้าท้องเล็กน้อยจะดีที่สุด
ยืนโดยลงน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
การยืนในลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อขาข้างที่ได้รับการทิ้งน้ำหนัก และอาจนำไปสู่อาการปวดและเป็นตะคริวได้ ท่ายืนที่ถูกต้องนั้น ควรยืนให้ขากว้างเท่ากับสะโพกโดยลงน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน เพื่อความสมดุลของร่างกาย
 

แฟชั่นอันตราย

ใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง
สำหรับสุภาพสตรีการใส่ส้นสูงอาจช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูสง่าขึ้นแต่ข้อเสียก็คือการใส่รองเท้าที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลังได้
สะพายกระเป๋าหนักเพียงข้างเดียว
กระเป๋าสะพายกับผู้หญิงนับเป็นของคู่กัน แต่หากใช้กระเป๋าที่หนักจนเกินไป และสะพายไว้บนไหล่เพียงข้างเดียว อาจทำให้เกิดการเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่ เนื่องจากกล้ามเนื้อ และกระดูกต้องรับน้ำหนักมากจนทำให้กระดูกคดงอได้ วิธีที่เหมาะสม คือ เลือกใช้กระเป๋าน้ำหนักเบา บรรจุของในกระเป๋าแต่พอดี และสลับด้านสะพายระหว่างข้างซ้ายและขวาให้เท่า ๆ กัน
 

การนอน

นอนคว่ำ
โดยเฉพาะการนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากจนผิดปกติ ทั้งยังก่อให้ เกิดอาการปวดคอและปวดหลังอีกด้วย
นอนขดตัวคุดคู้
การนอนหดแขนและขาจะทำให้กระดูกสันหลังบิดงอผิดรูป และเกิดอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ ท่านอนที่ถูกต้องนั้น แนะนำให้นอนหงายและใช้หมอนหนุนศีรษะที่ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการนอนบนหมอนที่สูงเกินไป    
นอนดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ

คนทั่วไปมักติดนิสัยนอนเอนหลังดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนไถลตัวไปบนโซฟาหรือเตียงนอน ทำให้ต้องงอลำคออันอาจเป็นผลให้กระดูกคอสึก และเกิดอาการปวดหลัง เพราะกระดูกหลังแอ่น

 

เครื่องดื่มควรระวัง

น้ำอัดลม
เนื่องจากน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริกเป็นส่วนประกอบ การดื่มเป็นประจำติดต่อกันจึงก่อให้เกิดการสะสมของกรดฟอสฟอริกมากขึ้น ซึ่งมีผลให้ระดับแคลเซียมในร่างกายลดต่ำลง จนอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ส่งผลในทางอ้อมต่อระดับแคลเซียมในร่างกาย ด้วยการทำให้ปริมาณวิตามินดีลดต่ำซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดต่ำลงด้วย ทั้งยังไปเพิ่มการขับแมกนีเซียมออกจากร่างกาย
กาแฟ
มีงานวิจัยระบุว่าการดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 2 ถ้วย จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์ของกระดูก เปราะบางได้เนื่องจากสารคาเฟอีนในกาแฟ จะกระตุ้นให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น  การจะมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงได้นั้น จึงหมายถึงการใส่ใจดูแลกระดูกอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วันไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยใด
 

อย่ามองข้ามสุขภาพ “นิ้วมือ”


คนส่วนใหญ่มักลืมนึกถึงการดูแลสุขภาพกระดูกที่นิ้วมือ ทั้งที่ “นิ้วมือ” จัดเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ต้องรับบทหนักในแต่ละวัน และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี ก็อาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ นั่นก็คือ 

โรคพังผืดรัดเส้นประสาทฝ่ามือ (Carpal Tunnel Syndrome – CTS)
มักเกิดกับผู้ที่ใช้ข้อมือทำกิจกรรมเดิม ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ตลอดจนโทรศัพท์หรือขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นผลให้เกิดพังผืดขึ้นบริเวณช่องเส้นเอ็นที่ข้อมือ ในเบื้องต้นจะทำให้รู้สึกชาที่ปลายนิ้ว ต่อมาจะมีอาการปวดร้าวที่ข้อมือ และลามไปยังต้นแขน จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่ฝ่ามือและข้อมืออ่อนแรงและลีบลงจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้
โรคนิ้วล็อค (Repetitive Strain Injury)
มักเกิดกับผู้ที่ใช้มือออกแรงทำงานมากเกินไป เช่น การหิ้วหรือยกของหนัก การซักหรือบิดผ้า ผู้ที่เป็นโรคนี้จะยังสามารถกำมือหรืองอนิ้วได้แต่ไม่สามารถเหยียดนิ้วใดนิ้วนึงได้
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs