bih.button.backtotop.text

ก้าวสำคัญของการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว


โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่าโรคลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคที่แม้ใครได้ยินก็คงอดพรั่นพรึงไม่ได้ เพราะนอกจากจะมีความรุนแรงถึงชีวิตแล้ว ยังเป็นโรคที่เราทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นได้ทั้งสิ้น
 

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และ Better Health ฉบับนี้จะพาคุณไปรู้จักกับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว ซึ่งริเริ่มให้มีขึ้นในประเทศไทยโดย นพ. วิเชียร มงคลศรีตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ โลหิตวิทยา และกลายมาเป็นความหวังครั้งใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก 

 

รู้จักกับมะเร็งเม็ดเลือดขาว

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในไขกระดูก เกิดจากการมีเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่เติบโตผิดปกติเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดของเซลล์เหล่านี้ ได้ไปทำลายระบบการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด โดนลดทอนจำนวนลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการโลหิตจางมีเลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือดตามร่างกาย ติดเชื้อง่าย และมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
 

ปัจจุบัน เราพบว่าในกลุ่มของโรคมะเร็งระบบเลือดซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากเป็นอันดับ 1 หรือ 2 คู่คี่กันมากับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีตัวเลขต่ำกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่มะเร็งชนิดนี้กลับมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักได้ในเวลาอันรวดเร็ว
 

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง แต่ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นชนิดเฉียบพลัน นั่นคือมีอาการภายใน 1 - 3 เดือนก่อนจะมาพบแพทย์ ซึ่งในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน โอกาสที่จะหายจากโรคนั้นแทบไม่มีเลย แต่ปัจจุบัน วิธีการรักษาและตัวยาที่ใช้ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมีการนำวิธีรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกมาใช้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้” นพ. วิเชียรกล่าว
 

สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรังนั้น มีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยอาจไม่แสดงอาการนานนับปี แต่จะทราบได้ด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเม็ดเลือด หรือตรวจสุขภาพทั่วไปว่า มีอาการที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น ตับโต ม้ามโต หรือต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่  
 

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรค แต่ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็จำเป็นต้องอาศัยการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเลือดโดยตรง เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนนับไม่ถ้วนซึ่งต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ
 

“ถ้าเป็นการรักษาลูคีเมียแบบเฉียบพลันเราต้องเริ่มที่การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้โรคสงบ จากนั้น ถ้าในคนไข้ที่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ ก็จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ถ้าไม่ได้ก็จะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้โรคหายขาด แต่ถ้าเป็นชนิดเรื้อรัง ในอดีตจะใช้การปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อให้โรคหายขาดก่อน แล้วจึงให้ยา แต่ปัจจุบันยามีคุณภาพดีขึ้นมาก ฉะนั้นก็ใช้ยาเป็นหลักก่อน แม้จะไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้เหมือนการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ผลการรักษาออกมาดีมากจนอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก” นพ. วิเชียรอธิบาย    
 

หนึ่งในสี่หมื่น

ในการที่จะปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น สามารถทำได้ 2 วิธี คือใช้สเต็มเซลล์ที่อยู่ในเลือดหรือไขกระดูกของผู้ป่วยเอง กับใช้สเต็มเซลล์ของผู้อื่นแต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้อื่น เพราะมีโอกาสสูงที่เซลล์ไขกระดูกของตัวเองจะมีเซลล์มะเร็งปนเปื้อนมาด้วย
 

อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไขกระดูกที่ไม่ใช่ของตัวเองจะมีอุปสรรคอยู่ที่ความเข้ากันของ HLA (Human Leukocyte Antigen) ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับรหัสพันธุกรรมของแต่ละบุคคล การใช้ไขกระดูกที่ HLA ไม่เข้ากับผู้ป่วยจะ ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเกิดอาการปฏิเสธไขกระดูกนั้น เช่น มีผื่นขึ้น ตับอักเสบ ตับวาย มีปัญหาในระบบทางเดินอาหารและอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
 

ยิ่งไปกว่านั้น โอกาสที่คนแปลกหน้าจะมี HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยมีเพียง 1 ใน 40,000 ราย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แพทย์จำเป็นต้องมีจำนวนผู้บริจาคไขกระดูกไม่ต่ำกว่า 40,000 รายจึงจะหาผู้บริจาคที่เข้ากันได้เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ การปลูกถ่ายไขกระดูกจึงเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลานานในการค้นหาผู้บริจาคที่เหมาะสม 

 

การปลูกถ่ายไขกระดูกที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว

“ด้วยข้อจำกัดเรื่องผู้บริจาคนี้เอง จึงเป็นที่มาของวิธีการรักษาแบบปลูกถ่ายไขกระดูกที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว” นพ. วิเชียรเล่า “นั่นคือใช้ผู้บริจาคที่มี HLA เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว ซึ่งสามารถหาได้จากพ่อ แม่ ลูก และพี่น้องร่วมสายเลือด”

ทั้งนี้ ความแตกต่างของการปลูกถ่ายไขกระดูกที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว กับการปลูกถ่ายไขกระดูกธรรมดาจะอยู่ที่การให้ยากดภูมิคุ้มกันด้วยสูตรที่จำเพาะและแรงขึ้นเพื่อควมคุมอาการปฏิเสธไขกระดูก ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากยาจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออาการติดเชื้อ และไวต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
 

การปลูกถ่ายไขกระดูกที่เข้ากันได้ร้อยเปอร์เซนต์ของผู้บริจาคทั่วไป (ไม่ใช่พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน) กับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่เหมือนกันเพียงครึ่งเดียวของคนในครอบครัวนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จและสภาวะแทรกซ้อนใกล้เคียงกัน เพียงแต่วิธีหลัง ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษามากกว่า เพราะผู้บริจาคเป็นบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน” นพ. วิเชียรกล่าว “และแม้จะมีความเสี่ยง แต่เนื่องจากโรคมีความรุนแรงมากกว่าความเสี่ยงในการรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูกแบบเหมือนกันเพียงครึ่งเดียวจึงได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก”
 

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่การรักษาโรคมะเร็งร้ายแรงชนิดนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นจนผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้ แต่  นพ. วิเชียรยังคงย้ำในตอนท้ายว่า การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และการตรวจสุขภาพ อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการเฝ้าระวังก็ยังจำเป็นอยู่นั่นเอง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs