bih.button.backtotop.text

มะเร็งกับการรักษา


ความก้าวหน้าของวิทยาการ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ทำให้การต่อสู้กับมะเร็งในปัจจุบันมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
 

โรคมะเร็งเป็นโรคที่พบบ่อย และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ส่งผลให้มีการศึกษาวิจัยอย่างแพร่หลายเพื่อทำความเข้าใจกับโรคมะเร็งให้มากขึ้นอันจะนำไปสู่การต่อสู้กับมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ Better Health ฉบับนี้พาคุณผู้อ่านไปคุยกับ นพ. ณรงค์ศักดิ์  เกียรติขจรธาดา อายุรแพทย์ด้านโลหิตวิทยา และเนื้องอกวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งฮอไรซันถึงความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน


แนวทางที่เปลี่ยนไป

สำหรับผู้ป่วย การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งนั้นไม่ต่างอะไรกับได้รับ “คำสั่งประหาร” หลายคนหมดอาลัยในชีวิต เพราะเชื่อว่านอกจากโรคร้ายจะสร้างความทรมานแล้ว การรักษาก็คงทรมานไม่แพ้กัน แต่สำหรับแพทย์แล้ว การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเปรียบเหมือนการเข้าสู่สงครามที่ต้องมีการประเมินปัจจัยแวดล้อม และวางแผนกันอย่างถี่ถ้วน
 

นพ. ณรงค์ศักดิ์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งพัฒนาไปในแนวทางที่แตกต่างจากเดิมมาก จากเมื่อก่อน เป้าหมายการรักษาอยู่ที่การกำจัดมะเร็งให้หมดไปจากร่างกายไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม  ซึ่งผลก็คือ ผู้ป่วยก็ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีการวางแผนการรักษาอย่างเป็นระบบโดยแบ่งเป็น การรักษาหลักเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง การรักษาเสริมเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังคงหลงเหลืออยู่ภายหลังการรักษาหลัก และการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อรับมือกับความทุกข์ทรมานจากโรค หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”  


ผสมผสานการรักษา

ในการวางแผนการรักษา แพทย์จะพิจารณาว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด เป็นที่บริเวณไหน อยู่ในระยะใด และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร “อาวุธหลักที่แพทย์ใช้ในการต่อสู้กับมะเร็งมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายรังสี ส่วนจะใช้อะไรนั้น แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป” นพ. ณรงค์ศักดิ์กล่าว
 

โรคมะเร็งมีอยู่สองชนิด ได้แก่ มะเร็งของระบบเซลล์ของเม็ดเลือด และต่อมน้ำเหลือง หรือ Hematologic Malignancies เป็นเซลล์มะเร็งที่อยู่กระจัดกระจาย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมะเร็ง อีกชนิด ได้แก่ มะเร็งของอวัยวะแบบที่เป็นก้อน หรือ Solid Tumor 
 

“ในกรณีของมะเร็งแบบแรก เราใช้การผ่าตัดไม่ได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งกระจัดกระจายไปทั่วร่างกาย การรักษาจึงใช้เคมีบำบัดเป็นส่วนมากและอาจใช้รังสีรักษาเข้ามาเสริมบ้าง ขณะที่มะเร็งชนิดที่เป็นก้อนซึ่งมีที่เกิดแน่นอน มักจะใช้การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก โดยมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เมื่อตัดออกแล้ว แพทย์อาจให้มีการฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเพื่อจำกัดบริเวณ และควบคุมทั้งร่างกายไปด้วย ในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่เกินไป แพทย์อาจให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงก่อนเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งลงเพื่อให้สามารถผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น” นพ. ณรงค์ศักดิ์อธิบาย 
 

ส่วนการใช้รังสีรักษา เป็นการใช้สารกัมมันตรังสี หรือคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสีในการจัดการกับเซลล์มะเร็ง โดยจะแบ่งเป็นการฉายรังสีรักษามะเร็งจากภายนอกร่างกาย และการใช้รังสีจัดการมะเร็งโดยฝังเข้าไปในร่างกายให้ชิดกับก้อนมะเร็งเพื่อผลในการรักษา ประคับประคองหรือควบคุมขอบเขตของมะเร็ง
 

ขณะที่ยาเคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งมีคุณลักษณะที่สำคัญคือ มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่าการทำลายเซลล์มะเร็งของยาเคมีบำบัดจะมีผลทำลายเซลล์อื่น ๆในร่างกายที่มีการแบ่งตัวเร็วด้วยเช่นเดียวกัน   


วิทยาการรุดหน้า

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และวิทยาการอันก้าวหน้าทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ขณะที่การรักษาโรคมะเร็งก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นเนื่องจากมีอุปกรณ์ช่วยมากขึ้น ประกอบกับเทคนิคต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น 
 

“ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก”นพ. ณรงค์ศักดิ์อธิบาย “การผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งปอด หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ก็มีเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม รวมทั้งมีเทคนิคการผ่าตัดแบบรักษาอวัยวะ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดบริเวณลำไส้ตรง ในอดีตถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดจะไม่เหลือเนื้อเยื่อมากพอที่แพทย์จะตัดต่อลำไส้ให้ผู้ป่วยขับถ่ายผ่านช่องทางปกติได้ ต้องต่อออกมาทางหน้าท้องแล้วติดถุงไว้แต่ตอนนี้แพทย์สามารถผ่าตัดมะเร็งออกไป พร้อมตัดต่อลำไส้ให้ผู้ป่วยขับถ่ายได้ตามปกติ”
 

ในส่วนของรังสีรักษา และเคมีบำบัด นพ. ณรงค์ศักดิ์กล่าวว่าก็มีการพัฒนาไปมากเช่นเดียวกัน “ในการใช้รังสีรักษา เรามีเทคโนโลยีระบบภาพนำร่อง หรือ IGRT ที่จะช่วยให้การระบุตำแหน่งของก้อนมะเร็งเพื่อฉายรังสี ทำได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เรามีเครื่อง IMRT หรือเครื่องฉายรังสีแบบสามมิติที่สามารถปรับความเข้มของรังสีได้ เรามีการฝังแร่กัมมันตรังสีเพื่อควบคุมมะเร็งเฉพาะที่ร่วมกับการฉายรังสีเพื่อเพิ่มปริมาณรังสีเฉพาะที่ลดความเสี่ยงต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจ
 

ส่วนยาเคมีบำบัด ก็มีการพัฒนาสูตรยาต่าง ๆ ขึ้นมาให้แพทย์เลือกใช้มากขึ้น และบรรเทาผลข้างเคียงอย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นทันที อย่างเช่น อาเจียน อาการวิงเวียน หน้ามืด หรือผลข้างเคียงที่ เกิดขึ้นภายหลังได้รับยาแล้วระยะหนึ่ง” นพ. ณรงศักดิ์กล่าว 


รักษาในระดับยีน

อย่างไรก็ตาม แม้ยาเคมีบำบัดจะได้ผลดี แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่อาจรับมือกับผลข้างเคียงได้ไม่ดีนัก จนเกิดเป็นความท้อแท้ใจในการรักษา ปัจจุบัน ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลข้างเคียงไม่รุนแรง และถือว่าเป็นความก้าวหน้าล่าสุดในการต่อสู้กับมะเร็งอย่างตรงจุด 


“ยาอีกประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ต่อสู้กับมะเร็งได้แก่ยา Targeted Therapyหรือยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงไปยังเป้าหมายที่เป็นเซลล์มะเร็ง เพื่อรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย มะเร็งปอดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเสริมกับรังสีรักษา หรือการรักษามะเร็งศีรษะและลำคอที่ต้องการสงวนอวัยวะ  ยา Targeted Therapy มีหลายสูตรที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในปัจจุบัน โดยแต่ละสูตรมีหลักการทำงานแตกต่างกันไปแต่มีเป้าหมายร่วมกันคือ ทำลายเซลล์มะเร็งอย่างตรงเป้าและส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด เช่น ทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายหรือทำหน้าที่จับกับตัวรับสัญญาณที่ผิวเซลล์ ยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต หรือทำการสร้างแอนติบอดี้เข้าไปยังเซลล์มะเร็งโดยตรงเพื่อให้ภูมิคุ้มกันกำจัดเซลล์มะเร็ง” นพ. ณรงค์ศักดิ์อธิบาย
 

อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มที่เป็น Targeted Therapy นี้ เกิดขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นการรักษาเสริมให้แก่ผู้ป่วยโดยใช้ร่วมกับการรักษาหลักอย่างการผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้มากขึ้น โดยอาจจะให้ก่อน หรือหลังการรักษาหลักตามแต่แผนการรักษาของแพทย์
 

นพ. ณรงค์ศักดิ์เสริมว่า “แม้จะใช้ได้ผลน่าพอใจ แต่การรักษาด้วยยา Targeted Therapy ก็ต้องมีเป้าหมายที่แน่ชัดในเซลล์ซึ่งในที่นี้ก็คือยีนมะเร็ง จึงต้องมีการตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยรายนั้น ๆ มียีนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับยาหรือไม่ เพื่อจะได้นำยามาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”    


ดูแลอย่างเป็นระบบ

แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาโรคมะเร็ง แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและลืมไม่ได้เลยคือ เรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย “น่าดีใจที่การรักษามะเร็งเดี๋ยวนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งก่อนการรักษา ในระหว่างการรักษา และภายหลังการรักษา โดยจะมีการตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อว่าทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนการรักษาร่วมกัน ในช่วงระหว่างการรักษาก็มีการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ พร้อมกันนั้นก็มีการให้ความรู้ในการปฏิบัติตน ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านสภาวะจิตใจ เรียกว่าให้การดูแลผู้ป่วยในทุก ๆ ด้านนั่นเอง” นพ. ณรงค์ศักดิ์กล่าว


การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปมาก แพทย์มีเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญ และมีอาวุธให้เลือกใช้ในการต่อสู้กับมะเร็งมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และกว่าที่เทคนิค  เทคโนโลยี และการรักษามะเร็งแบบใหม่ ๆ จะได้รับการรับรองให้ใช้ได้ก็ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยจนมั่นใจได้ 


อย่าเสียเวลาและโอกาสในการรักษาไปกับการลองผิดลองถูก เมื่อตรวจพบและรีบรักษา ผู้ป่วยก็มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้ในที่สุด


เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับมะเร็งและการรักษา

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษานั้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณสามารถรับมือกับโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี ข้อมูลต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจโรคมะเร็งและการรักษาได้ดีกว่าเดิม
 

  • โรคมะเร็ง มีสาเหตุใหญ่มาจากการกลายพันธุ์ของยีน และถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ฮอร์โมน เชื้อไวรัส การอักเสบ เรื้อรัง และสารก่อมะเร็งจากภายนอกร่างกาย
  • ทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคมะเร็งจะคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยเสมอเมื่อวางแผนการรักษา
  • การผ่าตัดอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อการกำจัดก้อนเนื้อมะเร็งแต่เพียงอย่างเดียว บางกรณีก็เป็นการป้องกัน เป็นการวินิจฉัย และบางครั้งเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโรค
  • ในบางกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดอวัยวะ แพทย์สามารถสร้างอวัยวะเทียมขึ้นมาใช้ทดแทนเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น บางกรณีแพทย์อาจฝังแร่กัมมันตภาพรังสีชิดกับก้อนเนื้อมะเร็งก่อนทำการฉายแสงเพื่อเพิ่มปริมาณรังสีเฉพาะจุดให้มากขึ้น
  • เซลล์มะเร็งแตกต่างจากเซลล์ปกติตรงที่ มีการเติบโตอย่างรวดเร็วไร้การควบคุม สามารถสร้างหลอดเลือดฝอยมาเลี้ยงตัวเอง และไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้ตามปกติ
  • มะเร็งบางชนิดอาจรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง
  • มีหลายกรณีที่เซลล์มะเร็งอาจดื้อต่อยาเคมีบำบัด แพทย์จึงต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการจัดการมะเร็งให้ได้ผลดี
  • ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดอาจเกิดขึ้นได้ทันทีในขณะที่รับการรักษา หรือภายหลังการรักษาหลายเดือน ซึ่งเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นแล้วร่างกายจะฟื้นตัวได้เอง อาการผิดปกติต่าง ๆ ก็จะหายไป
  • Targeted Therapy ก็จัดว่าเป็นเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง


เทคนิคการฉายรังสี แบบ 3 มิติ (VMATที่ปรับความเข้มของรังสี เป็นเทคโนโลยี ในการฉายรังสีรักษามะเร็งแบบใหม่ โดยแพทย์จะสร้างภาพเสมือนจริง ของมะเร็งจากคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ตำแหน่ง ของก้อนมะเร็ง และรายละเอียดของเนื้อเยื่อปกติที่อยู่โดยรอบ

วางแผนการใช้ รังสีโดยคำนวณรูปร่าง ทิศทาง เพื่อกำหนดขอบเขตของรังสี ให้ใกล้เคียงกับรูปร่างของมะเร็ง โดยปรับความเข้มข้นของปริมาณรังสีให้มากน้อยต่างกันในบริเวณรอยโรคเดียวกันด้วยการฉายรังสีเพียงครั้งเดียว  โดยไม่เพิ่มผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติ

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs