bih.button.backtotop.text

เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในช่องท้อง

กล้องตรวจกระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy)

ตรวจใครบ้าง

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนที่ยอดอก (Heartburn) อุจจาระมีสีดำคล้ำ แพทย์จะส่องกล้องหาสาเหตุของอาการปวดท้อง พร้อมทั้งสังเกตความผิดปกติของเนื้อเยื่อภายใน หรือหากสงสัยว่าอาจมีเชื้อแบคทีเรียโรคกระเพาะ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อกระเพาะมาตรวจสอบดูได้

ขั้นตอนการตรวจ

ให้ยาชา หรือยานอนหลับเพื่อป้องกันการขย้อน การตรวจใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 15 นาที โดยแพทย์จะสอดสายยางซึ่งมีกล้องขนาดเล็กอยู่ตรงปลายเข้าทางปากผ่านไปยังหลอดอาหารจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นแพทย์จะใส่ลมเข้าไปเล็กน้อยเพื่อขยายผนังกระเพาะให้พองขึ้น

กล้องแคปซูล (M2A Capsule Endoscopy)

ตรวจใครบ้าง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในช่องท้อง หรือตัวซีด และตรวจไม่พบความปกติที่กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ กล้องแคปซูล M2A จะถูกใช้ในการตรวจหาความผิดปกติในลำไส้เล็ก และถ่ายภาพออกมาเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำขึ้น

ขั้นตอนการตรวจ

ผู้เข้ารับการตรวจเพียงกลืนกล้องแคปซูลลงไปพร้อมกับน้ำ กล้องจะเดินทางเข้าสู่ระบบ ทางเดินอาหาร แล้วส่งสัญญาณภาพออกมา เพื่อให้ตัวรับข้อมูลที่เอวรับสัญญาณและบันทึกภาพไว้ การตรวจใช้เวลาประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ท้ายที่สุดแคปซูลจะถูกขับทิ้งพร้อมกับอุจจาระ    

ไฟโบรสแกน (Fibroscan)

ตรวจใครบ้าง

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่เป็นมานานหรือมีตับอักเสบ จะนัดมาทำการตรวจตับเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามสภาวะพังผืดของเนื้อเยื่อตับ

ขั้นตอนการตรวจ

แพทย์จะวางอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณเสียงไว้ที่ชายโครงด้านขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ แล้วปล่อยสัญญาณเสียงความถี่ต่ำเข้าไปเพื่อให้ซอฟท์แวร์แปลผลจากความเร็วในการสะท้อนกลับของเสียงออกมาเป็นค่าที่แพทย์จะสามารถพยากรณ์โรคได้ต่อไป กระบวนการตรวจใช้เวลาประมาณ 10 นาที    

กล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

ตรวจใครบ้าง

ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดปนกับอุจจาระ อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ผู้ป่วยมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก มีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย รวมถึงผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่เคยมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน

ขั้นตอนการตรวจ

แพทย์จะสอดกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11 มิลลิเมตร เข้าทางทวารผ่านไปตามความยาวของลำไส้ใหญ่ไปจนถึงรอยต่อระหว่างลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก (Cecum) และตรวจสอบภาพถ่ายวิดีโอจากจอมอนิเตอร์ กระบวนการตรวจใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 ถึง 45 นาที ในกรณีที่พบความผิดปกติ เช่น เนื้องอก แผลอักเสบ แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ทันที
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs