bih.button.backtotop.text

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

22 มกราคม 2553

จริงอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากวัยเด็กเป็นวัยหนุ่มสาวนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน เราพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่กำลังประสบกับภาวะที่เรียกกันว่า เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยนั่นคือ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนเวลาอันควร ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ๆ อีกด้วยดังนั้นการรู้เท่าทันปัญหาจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตุเห็นความผิดปกติของบุตรหลานและแก้ไขความผิดปกตินั้นได้ทันท่วงที

Better Health ฉบับนี้จึงได้พูดคุยเพื่อขอความรู้จาก พญ. อนุตรา โพธิกำจร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชกรรม ในทุกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับภาวะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย

แค่ไหนที่เรียกว่า "ก่อนวัย"Ž

โดยทั่วไปแล้วเด็กผู้หญิงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุได้ประมาณ 8 ปี ขณะที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าเล็กน้อย คือเริ่มตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป

ดังนั้น หากเด็กหญิงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุ 8 ปี อาจถือได้ว่าเป็นสาวก่อนวัย
 
  • มีเต้านม บางกรณีอาจพบเต้านมเจริญขึ้นเพียงข้างเดียว
  • เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
  • มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เริ่มมีสิว และมีกลิ่นกาย
  • สำหรับเด็กผู้ชาย หากมีอาการเป็นหนุ่มก่อนวัย จะสังเกตได้จากมีความเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ ก่อนอายุ 9 ปี
  • มีการขยายตัวของลูกอัณฑะและองคชาติ
  • เริ่มมีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ 
  • ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เสียงเริ่มแตก เป็นสิว และมีกลิ่นตัว

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจอีกด้วย จะพบว่าเด็ก ๆ จะหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน และมีภาวะซึมเศร้าได้ง่าย

ทำไมลูกจึงเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

แม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่จากการศึกษาพบว่าการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยนั้นมักเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย และมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักของเด็กอยู่มาก

“ปัจจุบัน เด็กที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วมีมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และมากขึ้นทั่วโลก โดยจำนวนที่สูงขึ้นนั้นจะคู่คี่มากับจำนวนของเด็กอ้วนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเด็กที่มีน้ำหนักเกิดมาตรฐานจะมีแนวโน้มเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์” พญ. อนุตรากล่าว

ดังนั้นภาวะโภชนาการที่ไม่ดี ซึ่งรวมถึงการรับประทานขนมกรุบกรอบ ของทอด ของมันและอาหารจานด่วนที่มีไขมันสูงจึงไม่เพียงทำให้เด็กมีน้ำหนักเกินเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนเวลาอันควรอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเนื้องอกบริเวณรังไข่หรือบางส่วนของสมองหรือเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยเช่นกัน แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก 

ผลร้ายที่จะตามมา

แม้การแตกเนื้อหนุ่มสาวก่อนวัยจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การที่อายุกระดูกของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กก็จะไม่สูง เนื่องจากมีการเชื่อมปิดของกระดูก ส่งผลให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเตี้ยกว่ามาตรฐานทั่วไป

นอกจากนี้ สภาพจิตใจของเด็กก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายผิดแผกไปจากเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันอาจทำให้เด็กอับอายเนื่องจากโดนเพื่อนล้อ กลั่นแกล้ง จนกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง นอกเหนือจากความสับสนและไม่รู้จะจัดการกับตัวเองอย่างไรหากไม่มีคนให้คำปรึกษาโดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วมาก ๆ

“เด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก่อนเวลาอันควร จะมีผลต่อจิตใจในกรณีที่เด็กยังไม่พร้อม และมีโอกาสโดนล่วงละเมิดทางเพศได้เพราะเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่นเช่น จากเนื้องอกหรือโรคทางพันธุกรรมการปล่อยทิ้งไว้ก็จะมีผลเสียอันเนื่องมาจากภาวะนั้น ๆ” พญ. อนุตรากล่าว  

การวินิจฉัย

ในการวินิจฉัยว่าเด็กมีอาการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยหรือไม่นั้นนอกเหนือจากการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะทำการวินิจฉัยตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
 
  • เอกซ์เรย์เพื่อตรวจอายุของกระดูก เนื่องจากการเป็นหนุ่มสาว ก่อนวัยมีผลทำให้กระดูกมีอายุมากกว่าอายุจริง โดยแพทย์จะใช้ข้อมูลส่วนนี้ในการตัดสินใจว่าควรจะให้ยาระงับฮอร์โมนหรือไม่
  • ตรวจเลือดวัดฮอร์โมน การเติบโตก่อนวัยอันควรจะทำให้ฮอร์โมนเพศในร่างกายมีระดับสูงกว่าปกติ การตรวจนี้เป็นการยืนยันว่าร่างกายเด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ
  • ตรวจ MRI สมองและทำอัลตร้าซาวด์ บริเวณมดลูกสำหรับเด็กหญิงเพื่อยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเนื้องอกในสมองหรือความผิดปกติที่รังไข่หรือมดลูก ซึ่งหากขั้นตอนนี้ไม่พบอะไรแพทย์จะทำการรักษาด้วยยาฉีดควบคุมฮอร์โมนเพศ โดยจะฉีดหนึ่งเข็มทุก ๆ สี่สัปดาห์ จนกว่าอายุจริงจะเท่ากับอายุกระดูกหรือจนกว่าเด็กหญิงจะมีอายุพร้อมที่จะมีประจำเดือน หรือประมาณ 12 ปี

เกี่ยวกับการใช้ยานี้ พญ. อนุตรา ย้ำว่า “แพทย์จะให้ยาต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าเด็กมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยจริง และจะมีผลต่อส่วนสูงหรือมีผลต่อสภาวะจิตใจ ในกรณีที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกสูง ทั้ง ๆ ที่เด็กมีพัฒนาการตามวัย แบบนี้การใช้ยาจะไม่ได้ผล และแพทย์ไม่แนะนำ”

การรับมือและลดความเสี่ยง

เมื่อพบว่าลูกกำลังเผชิญกับภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย “สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือให้ความรู้กับลูกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยอธิบายตามความเป็นจริง ไม่ควรโกหกลูก และถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาก็อธิบายให้ลูกฟัง ว่าผลเสียของการไม่รักษามีอะไรบ้าง” พญ. อนุตราแนะนำ

นอกจากนี้ การให้ความรู้เรื่องเพศแก่ลูกตามความเหมาะสมของวัยจะทำให้เด็กรับรู้สภาพของตัวเอง และไม่ตกใจกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย “พ่อแม่บางครอบครัวไม่ได้ให้ความรู้เรื่องนี้กับลูกมากพอ ทำให้เมื่อถึงวัยอันควรคือ 12 ขวบแล้ว เด็กบางคนก็ยังดูแลตัวเองเรื่องประจำเดือนไม่ได้ รู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาดทั้ง ๆ
ที่สมควรแก่วัยแล้ว ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมให้เด็กตั้งแต่เนิ่น ๆจะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดีขึ้น” พญ. อนุตรากล่าว

สำหรับการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยที่ง่ายที่สุด ก็คือการควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยเน้นโภชนาการที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ถ้าพบว่าลูกมีน้ำหนักเกิน พ่อแม่จำเป็นต้องจัดการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ลูก

ยังเล็ก อย่ารอให้โตก่อนแล้วจึงค่อยลดน้ำหนัก เพราะหลายกรณีที่เด็กที่น้ำหนักมาก ก็ดูเหมือนจะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย แต่เมื่อวัดอายุกระดูกดู อายุกระดูกยังไม่ได้เพิ่มมากจนอาจส่งผลต่อการเติบโตในภายหลัง กรณีนี้ เพียงแต่ลดน้ำหนักให้ได้อย่างเดียว ก็เพียงพอแล้ว

การเอกซเรย์เพื่อตรวจอายุของกระดูก

 

แพทย์จะเอกซเรย์ตรวจดูอายุของกระดูกในเด็กที่มีแนวโน้มจะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับพัฒนาการมาตรฐานของกระดูก ตัวอย่างภาพเอกซเรย์แสดงพัฒนาการของกระดูกของเด็ก ช่องว่างระหว่างข้อนิ้ว และการพัฒนาการของกระดูกบริเวณฝ่ามือ ทำให้แพทย์คาดการณ์ได้ว่า เด็กจะเจริญเติบโตได้อีกมากน้อยเพียงใด รวมทั้งสามารถวางแผนการรับมือได้อย่างเหมาะสม

ความอ้วนกับภาวะการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

เมื่อกล่าวถึงภาวะการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย พ่อแม่มักนึกถึงสารเคมี หรือฮอร์โมนที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร แต่ประเด็นที่น่าพิจารณา และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนเด็กซึ่งเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้นกว่าอดีต โดยเฉพาะในหมู่เด็กหญิง คือ เรื่องของความอ้วนนั่นเอง

มีการสังเกตกันว่า จำนวนเด็กอ้วนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนเด็กที่เติบโตเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยด้วยเช่นกัน จึงมีการศึกษาโดยมุ่งเป้าไปที่การหาความเกี่ยวโยงระหว่างความอ้วน และการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยกันหลายครั้ง ในปี 2550 งานวิจัยครั้งหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ระบุว่าในจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอ้วนเพศหญิง 354 รายมีจำนวน 168 ราย หรือร้อยละ 48 เข้าสู่ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวภายในวัย 9 ปี และร้อยละ 6.5 เริ่มมีประจำเดือนภายในวัย 11 ปี

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ บทบาทของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเล็บตินซึ่งมีเซลล์ไขมันเป็นส่วนสำคัญในกลไกการผลิต เด็กหญิงที่อ้วนมีปริมาณเล็บตินในร่างกายมากกว่าปกติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเล็บตินมีบทบาทในการกระตุ้นฮอร์โมนอื่น ๆ ในสมอง ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กผู้ชาย ความอ้วนกลับไม่ได้เป็นสาเหตุของการเป็นหนุ่มก่อนวัย ตรงกันข้ามกลับเป็นสาเหตุให้เด็กชายเป็นหนุ่มช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ทั้งนี้ นักวิจัยกำลังศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับบทบาทของเซลล์ไขมันที่มีต่อพัฒนาการการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของเด็ก เพื่อจะได้หาวิธีรับมืออย่างได้ผลต่อไป ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ บทบาทของพ่อแม่ และผู้ปกครองที่ต้องดูแลให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งสร้างเสริมนิสัยที่ดีในการเลือกรับประทานอาหารซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดีต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs