bih.button.backtotop.text

สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หากความรู้ที่คุณทราบมายังไม่มากพอที่จะทำให้คุณตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Journal ฉบับเดือนธันวาคม 2551 อาจช่วยได้ เพราะได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยสูบหรี่มาก่อนมีความเสี่ยงในการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากหัวใจห้องบน หรือ Atrial Fibrillation (AF) สูงขึ้น

ความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจสองห้องข้างบน เป็นสาเหตุให้หัวใจสองห้องบนนั้นบีบตัวเร็วไม่สัมพันธ์กับห้องข้างล่าง โดยปกติแล้วการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่เพียงอย่างเดียวไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจเป็นปัจจัยนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยบางรายได้

งานวิจัยโดย Erasmus Medical Center ใน Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ชิ้นนี้ เป็นการศึกษาชาวดัตช์ จำนวน 5,700 รายที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป ทั้งที่สูบบุหรี่ และที่เคยสูบแต่เลิกไปแล้ว และพบว่าจำนวนร้อยละ 50 เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติภายในเวลา 7 ปี

แม้จะมีการตัดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่างอายุ และภาวะความดันโลหิตสูงออกไปแล้ว การสูบบุหรี่แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังคงเป็นเหตุให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสูงมากอยู่ดี ต่อไป หากพูดถึงพิษภัยของบุหรี่แล้วละก็ ควรเพิ่มภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือ AF เข้าไปในลิสต์อีกประการหนึ่ง

ผู้สูงอายุต้องนอนให้พอ

หากคุณเป็นผู้สูงอายุและเป็นโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) การนอนพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Archives of Internal Medicine เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากใช้เวลากว่า 4 ปีในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมการนอนของผู้สูงอายุจำนวน 1,200 รายซึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง และพบว่าผู้ป่วยที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงครึ่งในแต่ละคืนจะมีความเสี่ยงสูงกว่า 1/3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่นอนมากกว่า

นอกจากนี้ การนอนไม่เพียงพอยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอื่น ๆ อีก อาทิ โรคเบาหวานและโรคอ้วน การค้นพบนี้จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนและการนำเอาพฤติกรรมการนอนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

หัวใจล้มเหลวเสี่ยงต่อโรคกระดูกแตกหัก

การศึกษาใหม่ล่าสุดได้ส่งสัญญาณเตือนที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว นั่นคือ ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคกระดูกแตกหักมากกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจแบบอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยอายุน้อย โรคกระดูกแตกหักอาจฟังดูไม่ร้ายแรง แต่สำหรับผู้ป่วยสูงอายุแล้ว หากกระดูกสะโพกหรือกระดูกส่วนอื่น ๆ แตกหักอาจเป็นอันตรายร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

งานวิจัยโดยทีมงานชาวแคนาดาและถูกตีพิมพ์ในวารสาร Circulation: Journal of the American Heart Association ชิ้นนี้ เป็นการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยโรคหัวใจมากถึง 16,000 รายเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยเปรียบเทียบอัตรา การแตกหักของกระดูกระหว่างผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวกับผู้ป่วยโรคหัวใจแบบอื่น ๆ ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวมีการแตกหักของกระดูกสูงกว่าถึง 4 เท่า ทั้งยังเป็นการแตกหักของกระดูกสะโพกมากกว่าอีกด้วย

ความจริงข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวอาจไม่ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีอย่างเพียงพอจากอาหารหรืออาหารเสริม รวมถึงไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอเพื่อรักษาและเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs