“บ้าน” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะคนเราใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ทำให้เราได้รับสารก่อภูมิแพ้ทุกวันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัจจัยก่อภูมิแพ้ภายในบ้านที่พบได้บ่อยได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันจากการประกอบอาหาร ควันบุหรี่ การจุดธูป เทียน การถ่ายเทอากาศในบ้านไม่ดีพอ และฝุ่นมลพิษจากนอกบ้านที่เล็ดลอดเข้ามาในบ้าน
คำแนะนำในการจัดบ้านตามห้องต่างๆมีดังนี้
1. ห้องนอน
- เตียงและผ้าคลุมเตียง:
- ไม่ควรมีหมอนหลายๆใบ หมอนเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่น ควรใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นคลุมที่นอน ปลอกหมอนและหมอนข้าง โดยผ้าที่แนะนำให้ใช้ควรมีขนาดของรูน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร โดยคลุมที่นอน หมอนและหมอนข้าง แล้วใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนธรรมดาคลุมทับอีกที แนะนำให้ซักผ้าคลุมไรฝุ่นด้วยน้ำธรรมดาทุก 2-4 สัปดาห์
- ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนและผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียส ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยความร้อนจะสามารถลดความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นได้ถึงร้อยละ 90 การซักล้างด้วยอุณหภูมิปกติถึงแม้ไม่ได้ฆ่าไรฝุ่น แต่สามารถชะล้างฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ออกได้ ยกเว้นการซักแห้งอาจทำลายตัวไรฝุ่นได้
- พื้นห้อง:
- จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม พื้นห้องควรเป็นวัสดุที่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ หากจำเป็นต้องมีพรม ให้มีน้อยชิ้นที่สุดและทำความสะอาดด้วยการดูดฝุ่นและซักบ่อยๆ
- ผ้าม่านและมู่ลี่:
- ควรใช้ผ้าม่านที่สามารถซักได้ เช่น ผ้าฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ ควรใช้มู่ลี่ที่เป็นแบบม้วน ดีกว่าเป็นมู่ลี่ที่เป็นแนวแถบเพราะทำความสะอาดยากกว่า
- หน้าต่าง:
- ปิดหน้าต่างและใช้เครื่องปรับอากาศ ในช่วงที่มีละอองเกสรเยอะ หรือ ช่วงที่มีมลพิษสูง
- เฟอร์นิเจอร์:
- ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำความสะอาดง่าย เช่น ไม้ หนัง โลหะ พลาสติก ไม่ควรเป็นเบาะผ้าหรือใยสังเคราะห์ เพราะทำความสะอาดยากและเป็นแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ นอกจากนี้ไม่เลือกเตียงหรือตู้ที่มีขา เพราะทำให้เกิดช่องว่างข้างใต้ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นได้
- ของใช้ ของเล่น:
- เอาของที่เป็นแหล่งสะสมไรฝุ่น ออกจากห้องหรือเก็บใส่ถุงพลาสติก
- ไม่ควรมีตุ๊กตาที่ทำด้วยผ้า หรือเป็นขนไว้ในห้องนอน หากจำเป็นให้ทำความสะอาดด้วยการเอาตุ๊กตาหรือของเล่นที่เป็นเส้นใยใส่ถุงพลาสติกแช่ในช่องแข็ง ก่อนทำความสะอาด เพื่อเอาสารก่อภูมิแพ้ออก เพราะการแช่ในช่องทำน้ำแข็งภายในตู้เย็นนาน 1 คืนก็สามารถทำลายตัวไรได้เหมือนกัน
- ฟอกอากาศ:
- ควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA filter ซึ่งจะได้ผลดีในคนที่แพ้ขนสัตว์ กลิ่นควันต่างๆ มลพิษหรือเกสรดอกไม้ แต่ไม่ค่อยช่วยในการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นมีขนาดมากกว่า 10 ไมครอน จึงลอยอยู่ในอากาศได้ไม่เกิน 30 นาที
2. ห้องครัว
- เตาหุงต้ม:
- ใช้เตาที่มีเครื่องดูดควัน เพื่อระบายกลิ่น ฝุ่นควันจากการเผาไหม้
- ตู้เย็น:
- เช็ดทำความสะอาดตู้เย็นบ่อยๆ หากมีน้ำรั่วซึมให้รีบซ่อม
- กำจัดอาหารที่หมดอายุออกจากตู้เย็น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา
- เศษอาหาร:
- ใส่อาหารในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดและทิ้งขยะทุกวัน ไม่ควรมีเศษอาหารในครัวเพื่อป้องกันแมลงสาบ
3. ห้องน้ำ
- ติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อลดความชื้น
- ไม่ควรติดวอลเปเปอร์ พื้นและผนังห้องควรใช้วัสดุกันเชื้อรา
- ทำความสะอาดอ่างน้ำ พื้น บ่อยๆ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่สามารถจัดการเชื้อราได้ เช่น 5% ของสารฟอกขาวคลอรีน
4. ห้องนั่งเล่น
- ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำความสะอาดง่าย เช่น ทำด้วยหนัง หนังเทียม ไม้ โลหะ หรือพลาสติก
- ไม่ควรมีพรมในห้อง หากจำเป็นต้องมีให้ทำความสะอาดบ่อยๆด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มี HEPA filter และซักด้วยแชมพู
- ไม่ควรตั้งกระถางต้นไม้ไว้ในห้อง เพราะอาจทำให้เกิดความชื้นและมีเชื้อราได้
เรียบเรียงโดย :
ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: