bih.button.backtotop.text

น้ำตาเทียมกับภาวะตาแห้ง

ภาวะตาแห้งคืออะไร?

               ภาวะตาแห้ง เป็นภาวะที่ตาขาดน้ำตา เกิดจากปริมาณน้ำตาที่ลดลงหรือน้ำตาที่ผลิตออกมาไม่มีประสิทธิภาพ โดยน้ำตาของมนุษย์ประกอบไปด้วยสสารหลากหลายชนิด เช่น น้ำ กรดไขมันและเยื่อเมือกต่างๆ เกิดเป็นสารผสมที่ปกคลุมและเคลือบผิวดวงตาให้มีความชุ่มชื้นและยังมีส่วนในการป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย
 

ภาวะตาแห้งเกิดจากสาเหตุใด?*

  • ความเสื่อมของต่อมน้ำตาไมโบเมียน (meibomian gland dysfunction: MGD) ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่ที่เปลือกตา ทำหน้าที่สร้างน้ำตามาหล่อลื่นดวงตา  หรือความผิดปกติของดวงตา
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง ทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง
  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน มลภาวะ
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป
  • การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น

วิธีการบรรเทาอาการตาแห้งอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย คือ “การใช้น้ำตาเทียม”
*ส่วนหนึ่งจากบทความ “ตาแห้ง
 
 

น้ำตาเทียมคืออะไร?

               น้ำตาเทียมหรือสารหล่อลื่นดวงตา คือ สารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ทดแทนน้ำตา เพื่อบรรเทาอาการตาแห้งและระคายเคืองดวงตา น้ำตาเทียมจัดเป็นยาที่สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์

ส่วนประกอบในน้ำตาเทียมมักเป็นสารที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น carboxymethylcellulose, hydroxyethyl cellulose, hydroxypropyl methylcellulose และ dextran เป็นต้น

 

น้ำตาเทียมมีกี่ประเภท?

ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ตามลักษณะของเภสัชภัณฑ์ คือ

1.       น้ำตาเทียมชนิดสารละลาย (solutions) ได้แก่ ยาหยอดตาชนิดน้ำ และยาหยอดตาชนิดน้ำและไขมัน

2.       น้ำตาเทียมในรูปแบบกึ่งแข็ง (Semi-solid) ได้แก่ ขี้ผึ้งหรือเจล

โดยน้ำตาเทียมแต่ละรูปแบบต่างมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

ประเภท
ของน้ำตาเทียม 

 ข้อดี

ข้อเสีย 

 1. ชนิดสารละลาย (solutions) 

 - ใช้งานง่าย ไม่ทำให้มีอาการตาพร่าหรือมัวชั่วขณะ
- มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้
- ทั้ง unit dose* และ multiple dose**
- มีรูปแบบที่ไม่ผสมสารกันเสีย ปลอดภัยต่อการใช้งานระยะยาว

 - ให้ความชุ่มชื้นในระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องหยอดหลายครั้งต่อวัน
- ชนิดที่ไม่ผสมสารกันเสียมีอายุการใช้งานสั้น (ไม่เกิน 12-24 ชั่วโมง)

 2. ชนิดขี้ผึ้งหรือเจล (semi-solid)

 - ให้ความชุ่มชื้นดวงตาได้ยาวนาน

 - ไม่สะดวกต่อการใช้งานเมื่อเทียบกับรูปแบบสารละลาย
- หลังใช้ยาจะลดสมรรถภาพการมองเห็นลงชั่วขณะ

*Unit dose คือลักษณะบรรจุภัณฑ์สำหรับการใช้ครั้งเดียว โดยสำหรับยาหยอดตามักหมายถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ไม่เกิน 1 วัน (หรือตามระยะเวลาที่เอกสารกำกับยาระบุ) มักอยู่ในรูปแบบหลอดขนาดเล็ก

**Multiple dose คือลักษณะบรรจุภัณฑ์สำหรับการใช้หลายครั้ง มักมีส่วนผสมของสารกันเสีย (preservatives) ในผลิตภัณฑ์ เช่น ขวดขนาด 5 มิลลิลิตรหรือหลอดโลหะ (สำหรับชนิดขี้ผึ้งหรือเจล)

ทั้งนี้ การเลือกใช้น้ำตาเทียมประเภทใดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาวะตาแห้งของผู้ป่วยเป็นหลัก
 

ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม

                ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าน้ำตาเทียมแต่ละชนิด ต่างก็มีข้อดีข้อเสียในการเลือกใช้งานต่างกันและมีข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ดังนี้
  • น้ำตาเทียมชนิด unit dose หลังจากเปิดใช้งานแล้วไม่ควรใช้เกิน 12-24 ชั่วโมง ตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
  • น้ำตาเทียมชนิด multiple dose หลังจากเปิดใช้งานแล้วไม่ควรใช้เกินหนึ่งเดือน เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพได้
  • ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเป็นระยะเวลานาน หรือมีการใช้เลนส์สัมผัส (contact lens) ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนผสมของสารกันเสีย (preservatives) เนื่องจากอาจมีการสะสมและเป็นอันตรายต่อเลนส์ตา
  • วิธีในการหยอดหรือป้ายน้ำตาเทียม ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับดวงตาหรือขนตา เนื่องจากอาจทำให้ดวงตาอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรียได้
 
               ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกน้ำตาเทียม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำตาเทียมเป็นการบรรเทาอาการตาแห้งได้เพียงชั่วคราว หากมีอาการระคายเคืองตามากขึ้นหรือมีอาการตาแห้งเรื้อรัง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต้นเหตุของอาการต่อไป
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 

References:

  1. Pucker AD, Ng SM, Nichols JJ. Over the counter (OTC) artificial tear drops for dry eye syndrome. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016 Feb 23;(2).
  2. Baranowski P, Karolewicz B, Gajda M, Pluta J. Ophthalmic drug dosage forms: characterisation and research methods. The Scientific World Journal. 2014;2014.
  3. Jones L, Downie LE, Korb D, Benitez-del-Castillo JM, Dana R, Deng SX, Dong PN, Geerling G, Hida RY, Liu Y, Seo KY. TFOS DEWS II management and therapy report. The ocular surface. 2017 Jul 1;15(3):575-628.
  4. Dry eyes - Symptoms and causes [Internet]. Mayo Clinic. 2019 [cited 9 June 2019]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-eyes/symptoms-causes/syc-20371863
  5. Larson T. Artificial Tears: A Primer [Internet]. Webeye.ophth.uiowa.edu. 2016 [cited 9 June 2019]. Available from: https://webeye.ophth.uiowa.edu/eyeforum/tutorials/Artificial-Tears.htm
 

Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Tel: 02 011 3399
Email: [email protected]

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs