bih.button.backtotop.text

ทางเลือกในการผ่าตัดเพื่อความพึงพอใจของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

ในปัจจุบันแม้การผ่าตัดข้อเข่าเทียม (knee arthroplasty) จะเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีและปลอดภัยมาก แม้จะยังมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่สูง แต่จัดได้ว่าเป็นการผ่าตัดที่มีความคุ้มค่า (cost effective) ที่สุดชนิดหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมแล้วยังไม่พึงพอใจในผลการผ่าตัด โดยจากการศึกษาพบว่ามีประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมทั้งหมด จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่จะหาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุงทั้งเทคนิคในการผ่าตัด คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิตข้อเข่าเทียม รวมถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาการออกแบบข้อเข่าเทียมที่สามารถมีการใช้งานได้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นจึงมีการศึกษาเพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความคาดหวังของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด (patient expectation) หากผลของการผ่าตัดได้ผลตามที่ผู้ป่วยตัองการผู้ป่วยก็จะพึงพอใจ แต่ถ้าผลที่ได้หลังผ่าตัดไม่ตรงตามที่ผู้ป่วยคาดหวังไว้ ผู้ป่วยรายนั้นก็จะไม่พึงพอใจ ทั้งนี้จากประสบการณ์ในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมานานมากกว่า 10 ปีพบข้อเท็จจริงว่าผลของการผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกัน แม้จะผ่าตัดด้วยข้อเข่าเทียมชนิดเดียวกันและใช้เทคนิคในการผ่าตัดเหมือนกันก็ตาม อย่างไรก็ดีความคาดหวังของแพทย์ทุกท่านที่ต้องการทำผ่าตัดให้ผู้ป่วยคือความปลอดภัย สามารถที่จะเดินหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้ดีขึ้น ขาที่โก่งผิดรูปก่อนผ่าตัดสามารถกลับมาตรงเหมือนคนปกติ มีอายุการใช้งานได้นานอย่างน้อย 10 ปี แต่ในปัจจุบันความคาดหวังของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นแพทย์จึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลที่คาดว่าจะได้หลังการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยและญาติ
 
ปัจจุบันแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจึงมีความพยายามที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยมากที่สุด โดยแพทย์จะพยายามซักถามผู้ป่วยถึงความคาดหวังที่ผู้ป่วยต้องการจากการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม เลือกชนิดข้อเข่าเทียมที่เหมาะกับความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งในปัจจุบันมีข้อเข่าเทียมให้เลือกได้หลายชนิดโดยมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และเลือกใช้อุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยในการผ่าตัดให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยต้องการปวดน้อยฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัด ต้องการมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้การผ่าตัดด้วยเทคนิคที่มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก (MIS-minimally invasive surgery) แต่หากผู้ป่วยมีความต้องการให้งอข้อเข่าได้มากหลังผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาทำผ่าตัดโดยการปรับความตึงของเส้นเอ็นให้ข้อเข่าหลวมเล็กน้อยในขณะผ่าตัดในท่าที่ทำการงอเข่าเพื่อให้เข่าสามารถงอได้มากขึ้น หรือแพทย์อาจเลือกใช้ข้อเข่าเทียมชนิดที่ออกแบบมาให้งอเข่าได้มากขึ้น (high-flex design prosthesis) ผู้ป่วยบางรายอาจมีความต้องการที่จะเล่นกีฬาหรือใช้งานหนักหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียม หรือในรายที่มีน้ำหนักตัวมาก แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ข้อเข่าเทียมชนิดที่ออกแบบมาพิเศษให้มีความทนทานสูงชนิดผิวข้อเคลื่อนไหวได้ (mobile bearing design) หรืออาจใช้ผิวข้อเข่าเทียมที่เป็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสลื่นเป็นพิเศษเพื่อลดการสึกหรอและเพิ่มอายุการใช้งานให้นานขึ้น (ceramic coating surface) หากในกรณีที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงของการเกิดความคลาดเคลื่อนในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมในขณะผ่าตัดซึ่งจะส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมลดลง แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดข้อเข่าเทียมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (computer-assisted surgery) หรือการผ่าตัดโดยใช้แขนหุ่นยนต์ (robotic-arm assisted surgery) เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำให้แพทย์ในขณะทำผ่าตัด สามารถวางตำแหน่งข้อเข่าเทียมให้ดีที่สุดและสามารถมีอายุการใช้งานได้นานที่สุด แต่หากผู้ป่วยอายุมากใช้งานน้อยหรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาแนะนำใช้ข้อเข่าเทียมรุ่นประหยัดซึ่งก็พบว่าได้ผลดี
 
โดยสรุปการผ่าตัดข้อเข่าเทียมในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการผ่าตัดที่ดีที่สุด มีความปลอดภัยสูงสุด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังผ่าตัดน้อยที่สุด สามารถฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วที่สุด รวมถึงเพื่อให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมากที่สุด นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้มีอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมให้นานที่สุดด้วย
 
เรียบเรียงโดย ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์​  
อาคาร A ชั้น 20 เคาน์เตอร์ D
เปิดบริการทุกวัน 08.00-20.00 น.
โทร. 02-066-8888 หรือ 1378
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs