bih.button.backtotop.text

การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกสำหรับกระดูกสันหลังหักยุบ

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สำหรับจดหมายข่าวฉบับนี้ก็กลับมาถึงเรื่องโรคกระดูกสันหลังกันอีกครั้งวันนี้ผมจะมาคุยให้ฟังเกี่ยวกับโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบันนั่นก็คือโรคกระดูกสันหลังหักยุบนั่นเองในที่นี้ผมหมายถึงกระดูกสันหลังที่อยู่ๆ ก็หักยุบโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุนะครับแล้ว


ทำไมถึงพบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน? เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันดีขึ้นมาก จำนวนประชากรผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็จะบางลงและเปราะหักได้ง่ายขึ้น
   

บางเหตุการณ์ที่ไม่น่าทำให้กระดูกหักได้อย่างการสะดุดล้มธรรมดาก็อาจทำให้กระดูกหักได้ อาการสำคัญก็คืออาการปวดบริเวณที่กระดูกหักซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่กลางหลัง อาการปวดจากกระดูกหัก นี้จะมีลักษณะฉับพลัน คือ ปุบปับก็ปวดขึ้นมาทันที และโดยมากจะมีความรุนแรงพอสมควรนะครับ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการสแกนกระดูกสันหลัง รวมถึงเอ็กซเรย์ (X-Ray) อย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ รวมถึงตรวจหาโรคบางอย่างที่อาจซ่อนอยู่ไปด้วยกัน เช่นโรคเนื้องอก หรือโรคต่อมไร้ท่อต่างๆ ก่อนจะทำการรักษา
 

การรักษาที่ดีที่สุดคือรักษาแบบประคับประคองอาการ

แม้ว่าในช่วง 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการปวดมาก แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องใจเย็นๆ กันก่อนผู้ป่วยส่วนมากหายดีเพียงแค่รับประทานยาแก้ปวดให้เพียงพอ ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง ตรวจเช็คเอ็กซเรย์ (X-ray) เป็นระยะๆ และทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกทรุดตัวไปกว่าเดิมอย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบางกลุ่มที่รักษาไม่หายหรือไม่สามารถทนการใส่อุปกรณ์พยุงหลังได้ ทางเลือกในการรักษาที่น่าสนใจที่ผมจะเล่าให้ฟังวันนี้ก็คือ การฉีดซีเมนต์เข้าไปเสริมกระดูกที่หักนั่นเองครับ


รักษาให้ตรงจุด

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เราพบว่ามีกระดูกสันหลังหักอยู่หลายๆ จุดโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบมาก่อนเนื่องจากมีภาวะกระดูกพรุนอยู่เดิม แต่โดยมากแล้วจุดที่ทำให้เกิดอาการจะเป็นจุดที่เพิ่งหักมาเท่านั้นซึ่งต้องอาศัยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) ช่วยในการวินิจฉัยนะครับ

 

ทำอย่างไร ?

หลังจากที่ผู้ป่วยหลับอยู่ในท่านอนคว่ำแล้ว แพทย์จะใช้มีดเล็กๆ สะกิดเปิดแผลขนาด 2-3 มิลลิเมตรแล้วใช้เข็มที่มีลักษณะกลวงเหมือนหลอดสอดเข้าไปในปล้องกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์ หรือเครื่อง

คอมพิวเตอร์นำวิถีช่วย แล้วจึงค่อยๆ ฉีดซีเมนต์ให้กระจายไปในปล้องกระดูก ในบางรายที่กระดูกยุบมากแพทย์อาจพิจารณาใช้บอลลูน (balloon) เข้าไปยกกระดูกที่ยุบขึ้นมาด้วย โดยมากใช้เวลาทำไม่เกิน 45นาทีต่อหนึ่งระดับ ผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีหลังหมดฤทธิ์ยาสลบ และพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืน ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้
 

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงเฉพาะของหัตถการนี้ คือการที่ซีเมนต์จะรั่วออกมาจากตามรอยร้าวของกระดูก หากมีการรั่วเข้ากระแสเลือด จะก่อให้เกิดปัญหาเส้นเลือดอุดตันได้ เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากเหตุนี้จากเส้นเลือดบริเวณปอดอุดตันด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องอธิบายคนไข้และญาติอย่างละเอียดทุกครั้ง ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม
 

โดยสรุป

โรคกระดูกสันหลังหักยุบ แม้จะไม่ได้เป็นโรคที่มีความร้ายแรงอะไรนัก แต่เป็นโรคที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไปมากจากการที่ปวดหลังแล้วต้องนอนอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในยุคปัจจุบัน ซึ่งในความเห็นของผมนั้น มีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้นกว่ายุคก่อนๆ มาก การทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไวย่อมทำให้ลดปัญหาจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคปอด โรคทางเดินปัสสาวะและโรคแผลกดทับได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าการฉีดซีเมนต์จะเป็นหัตถการที่ไม่ซับซ้อนทำกันอย่างแพร่หลายและให้ผลการรักษาที่ดีก็ตาม ขอให้ปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดถึงข้อบ่งชี้และความเสี่ยงอย่างละเอียดนะครับ


เรียบเรียงโดย สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs