bih.button.backtotop.text

Targeted therapy ความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นหนึ่งในชนิดของโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในจำนวนโรคมะเร็งทั้งหมด โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากถึง 1.69 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมากรวมกันเสียอีก


อย่างไรก็ตาม แม้มะเร็งปอดจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก แต่ก็เป็นโรคที่มีความก้าวหน้าด้านการวินิจฉัยและการรักษาอย่างมากเช่นกัน

 

Targeted therapy กับการรักษามะเร็งปอด

โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งมักจำกัดอยู่ใน 3 แนวทาง คือ ผ่าตัดในกรณีที่สามารถทำได้ จากนั้นจึงเป็นการรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาหรือใช้ยาเคมีบำบัด หรืออาจเป็นการรักษาแบบผสมผสานมากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง


ทั้งนี้ การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดซึ่งเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดนั้นอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากตัวยาไม่เพียงออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ต่อเซลล์ปกติในส่วนอื่นๆ ของร่างกายผู้ป่วยอีกด้วย


ปัจจุบันจึงมียากลุ่มใหม่ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถออกฤทธิ์โดยพุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า targeted therapy โดยยาจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและให้ส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ผลข้างเคียงจึงรุนแรงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด


นอกจากมะเร็งปอดแล้ว targeted therapy ยังใช้ในการรักษาโรคมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งศีรษะและลำคอ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

ยีนกลายพันธุ์กับยาต้านมะเร็ง

เมื่อพูดถึง targeted therapy สำหรับมะเร็งปอด โดยทั่วไปจะหมายถึงมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) เนื่องจากเป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบได้บ่อยกว่า คือประมาณ 85-90% เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) ซึ่งพบเพียง 10-15% มีความรุนแรงน้อยกว่าและมีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาอย่างกว้างขวางมากกว่า กล่าวคือมีการวิจัยและพัฒนายาที่ให้ผลตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมากกว่า 15 ชนิด ขณะที่โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายาชนิดแรกและเพิ่งมีรายงานออกมาในช่วง 2 ปีหลังนี้เอง


ทั้งนี้ มะเร็งปอดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น บุหรี่ การได้รับสารพิษ อายุ และพันธุกรรม แต่ยา targeted therapy จะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีสาเหตุการเกิดโรคจากปัจจัยทางพันธุกรรมเท่านั้น คือมียีนในร่างกายที่เกิดการกลายพันธุ์ไป โดยยีนหลักๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่

  • ยีน Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) เป็นยีนที่พบการกลายพันธุ์มากที่สุดคือ 10% ในคนไข้มะเร็งปอดทั่วๆ ไป และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ในเอเชีย พบได้ถึง 50% ซึ่งการกลายพันธุ์นี้กระตุ้นให้มีการส่งสัญญาณที่ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจาย ยา targeted therapy ที่ใช้รักษามะเร็งปอดจากการกลายพันธุ์ของยีน EGFR หรือยาต้าน EGFR (anti-EGFR drugs) ได้แก่ erlotinib, afatinib, gefitinib เเละ osimertinib ซึ่งเป็นยาเม็ดรับประทาน
  • ยีน Anaplastic Lymphoma Kinase (ALK) พบได้น้อยกว่าคือเพียง 5% ของการกลายพันธุ์และมักพบในผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เช่นกัน การกลายพันธุ์ของยีนชนิดนี้ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งยาที่พุ่งเป้าไปยับยั้งยีน ALK หรือยาต้าน ALK (anti-ALK drugs) ได้แก่ crizotinib, ceritinib, brigatinib และ alectinib เป็นต้น ยาเหล่านี้อยู่ในรูปยาเม็ดรับประทาน


นอกจากนี้ ยังมีการกลายพันธุ์ของยีนชนิดอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดแต่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ยีน BRAF และ ROS1 และจะยังมีการค้นพบการกลายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกับการพัฒนายาต้านเพื่อใช้ในการรักษาต่อไป


ดังนั้น เมื่อตรวจพันธุกรรมผู้ป่วยมะเร็งปอดแล้วพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนชนิดใด แพทย์จะเลือกใช้ยาที่ตรงกับชนิดของยีนที่กลายพันธุ์นั้นเพื่อยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่าการรักษาแบบครอบคลุมไม่จำเพาะเจาะจง

 

ชนิดและการออกฤทธิ์ของยา

ยาในกลุ่ม targeted therapy สำหรับรักษามะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักโดยจะออกฤทธิ์แตกต่างกัน คือ

1. Monoclonal antibodies เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยจับกับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวของเซลล์มะเร็ง ช่วยยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ในก้อนเนื้อมะเร็งและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยากลุ่มนี้มักเป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำและจะใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

2. Small molecules เป็นยาโมเลกุลเล็กที่สามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์มะเร็งปอดเพื่อออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์ ยากลุ่มนี้จะอยู่ในรูปแบบของยาเม็ดรับประทาน เช่น ยา erlotinib และ gefitinib สำหรับกลายพันธุ์ของยีน EGFR และยา crizotinib สำหรับการกลายพันธุ์ของยีน ALK

 

ผลข้างเคียงของ targeted therapy

แม้ว่ายาในกลุ่ม targeted therapy จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่ก็ยังพบผลข้างเคียงได้ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ เช่น ทำให้เกิดผื่นคล้ายสิว ผิวแห้ง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากพบว่ามีอาการต่อเนื่องหรือรุนแรงขึ้น


ทั้งนี้ แพทย์พบว่าผลการตอบสนองต่อยาต้าน EGFR และยาต้าน ALK ดีมากถึง 60-70% ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีนดังกล่าวมีระยะเวลาการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างชัดเจนเท่านั้นแต่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน :
อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 3 ด้านใต้
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3 
เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110 ประเทศไทย
โทร : 02-066-8888 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs