bih.button.backtotop.text

Precision Medicine การรักษาโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล

ทุกๆ ชั่วโมง มีคนไทย 7 ราย  เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง  และจำนวนผู้ป่วยมะเร็งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
 
 “มะเร็ง” เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรมของเซลล์ ในร่างกาย ส่งผลทำให้เซลล์เติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในปริมาณที่ผิดปกติ โดยทั่วไป แพทย์จะรักษาผู้ป่วยมะเร็งแต่ละประเภทด้วยวิธีการที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน จึงได้มีการนำแนวทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ ที่เรียกว่า  Precision Medicine มาใช้ โดยนำเอาข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ และรูปแบบการใช้ชีวิตโดยละเอียดของผู้ป่วย มาประกอบการพิจารณาเพื่อหาสาเหตุและกลไกของการเกิดโรค ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เพื่อเลือกยาและการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยคนนั้น ซึ่งนับเป็นการรักษาที่ต้นเหตุของโรคมะเร็งอย่างแท้จริง
 
ซึ่งการนำเอาข้อมูลด้านพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้นเป็นประโยชน์ทั้งในการป้องกันและการรักษาโรค กล่าวคือ การตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของยีนที่ได้รับถ่ายทอดมาแต่กำเนิด เป็นการตรวจเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงเพื่อการวินิจฉัยโรค พยากรณ์ผลการรักษา และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดในอนาคต ส่วนผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจพันธุกรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว นอกจากนี้ ยังเป็นการตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของยีนในเซลล์มะเร็ง คือเป็นการตรวจในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้วเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาโรค โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่ามียีนหรือการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นตัวรับหรือเป้าหมาย (target) ที่ตอบสนองต่อยาที่จะใช้ในการรักษาหรือไม่
 
ในกรณีที่ผู้ป่วยมียีนที่เป็นเป้าหมาย แพทย์จะสามารถเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตรงเข้ายับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีในการรักษาแล้ว ยังช่วยหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาได้อีกด้วย ซึ่งการตรวจพันธุกรรมโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตัดเนื้อเยื่อ การตรวจจากเลือด น้ำลาย หรือใช้สำลีพันปลายไม้ขูดจากกระพุ้งแก้ม ซึ่งแพทย์จะส่งตัวอย่างที่ได้ไปตรวจยังห้องปฏิบัติการด้านการตรวจยีนโดยเฉพาะต่อไป โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะทราบผล ซึ่งในปัจจุบันการตรวจทางพันธุกรรมถูกนำมาใช้กับการตรวจมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด จึงนับเป็นความก้าวหน้าของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งที่เป็นความหวังของผู้ป่วยอย่างแท้จริง


เรียบเรียงโดย ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs