bih.button.backtotop.text

รู้หรือยัง? การตรวจพันธุกรรมช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้

การตรวจพันธุกรรมโรคมะเร็ง เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคต่อไป
   

ยีนและการกลายพันธุ์

ร่างกายของคนเราประกอบด้วยเซลล์จำนวนนับล้านล้านเซลล์ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ภายในเซลล์เหล่านี้มีส่วนที่เรียกว่านิวเคลียสซึ่งบรรจุแท่งโครโมโซมที่มีสารพันธุกรรม (DNA) เป็นส่วนประกอบ สารพันธุกรรมที่ขดกันเป็นเกลียวนี้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยหน่วยพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า ยีน (gene) นั่นเอง ในยีนแต่ละยีนจึงประกอบด้วยลำดับของ DNA ที่สามารถถอดรหัสออกมาเป็นชุดคำสั่งเฉพาะที่แตกต่างกันไปสำหรับควบคุมการทำงานและการแบ่งตัวของเซลล์
 
นอกจากนี้ ยีนยังมีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด ทั้งนี้ยีนอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดไปจากเดิม หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์ (mutation) ได้ตลอดเวลาโดยเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ  
 
  1. การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations) กล่าวคือ ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้ (hereditary breast and ovarian cancer syndrome : HBOC)
 
ผู้ที่มียีนผิดปกติแต่กำเนิดเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันที่ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม การได้รับยีนที่ผิดปกติแบบนี้พบได้เพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น
  1. การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired mutations) เป็นการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น จากรังสีเอกซเรย์ การสูบบุหรี่ การรับสารพิษต่างๆ และจากการจำลองตัวเองซ้ำๆ ของ DNA ที่ผิดปกติ และกว่าที่เซลล์ปกติจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการกลายพันธุ์หลายครั้งสะสมกันเป็นเวลานาน การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้พบได้บ่อยกว่าการกลายพันธุ์แต่กำเนิด มักปรากฏเมื่อคนเราอายุมากขึ้น และจะไม่ส่งต่อความผิดปกติไปยังรุ่นลูกหลาน
สำหรับยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้นมีอยู่ด้วยกันราว 500 ยีนจากยีนทั้งหมดในร่างกายกว่า 20,000 ยีน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  • ยีนก่อมะเร็ง (oncogenes) เป็นยีนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์จนไม่สามารถควบคุมได้
  • ยีนต้านมะเร็ง (tumor suppressor genes) เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหายและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ เมื่อยีนเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เซลล์ก็จะแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้งและนำไปสู่การเป็นมะเร็งในที่สุด
 

การตรวจพันธุกรรมโรคมะเร็ง

การตรวจพันธุกรรมหรือการตรวจยีนเป็นการตรวจร่างกายในระดับลึกที่สุด และถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายๆ ด้าน โดยการตรวจพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้นเป็นประโยชน์ทั้งในการป้องกันและการรักษาโรค กล่าวคือ
 
การตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของยีนที่ได้รับถ่ายทอดมาแต่กำเนิด เป็นการตรวจเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงเพื่อการวินิจฉัยโรค พยากรณ์ผลการรักษา และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดในอนาคต
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจพันธุกรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว
การตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของยีนในเซลล์มะเร็ง เป็นการตรวจในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้วเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาโรค โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่ามียีนหรือการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นตัวรับหรือเป้าหมาย (target) ที่ตอบสนองต่อยาที่จะใช้ในการรักษาหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ป่วยมียีนที่เป็นเป้าหมาย แพทย์จะสามารถเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตรงเข้ายับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีในการรักษาแล้ว ยังช่วยหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาได้อีกด้วย
 

วิธีการตรวจทางพันธุกรรมโรคมะเร็ง

การตรวจพันธุกรรมโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตัดเนื้อเยื่อ การตรวจจากเลือด น้ำลาย หรือใช้สำลีพันปลายไม้ขูดจากกระพุ้งแก้ม ซึ่งแพทย์จะส่งตัวอย่างที่ได้ไปตรวจยังห้องปฏิบัติการด้านการตรวจยีนโดยเฉพาะต่อไป โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะทราบผล

ปัจจุบัน การตรวจทางพันธุกรรมถูกนำมาใช้กับการตรวจมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด นับเป็นความก้าวหน้าของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งที่เป็นความหวังของผู้ป่วยอย่างแท้จริง
 
เรียบเรียงโดย นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs