bih.button.backtotop.text

Targeted Therapy เจาะจงที่เป้าหมาย...ความหวังของการรักษามะเร็ง

เมื่อพูดถึงการรักษามะเร็ง วิธีการรักษาที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด จนเมื่อการศึกษาต่างๆ และวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า จึงมีการค้นพบวิธีการรักษามะเร็งแบบใหม่ ซึ่งก็คือ Targeted Therapy หรือการรักษาแบบเจาะจงไปยังเป้าหมายที่เป็นเซลล์มะเร็ง
 
เนื่องจากคุณสมบัติหนึ่งของเซลล์มะเร็ง คือ การเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว การรักษาโดยใช้เคมีบำบัดจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อไปทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่เฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ถูกทำลาย เซลล์ปกติในร่างกายที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์ของเม็ดเลือด เซลล์เส้นผม เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เซลล์เยื่อบุลำไส้ เซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้ม กลับถูกทำลายไปด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการให้เคมีบำบัดจึงมีผลข้างเคียงต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ ผมร่วง ท้องเสีย มีแผลในปาก และอื่นๆ อีกมากมาย
 
ต่อมา เมื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยีนและชีวโมเลกุลมีการพัฒนาจนสามารถทราบถึงความผิดปกติของยีนและกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงมีการค้นพบวิธีการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่มีผลต่อเซลล์ปกติน้อยกว่า วิธีนี้เรียกว่า “Targeted Therapy”
 
Targeted therapy เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยอาจไปจับกับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์ หรือผ่านเข้าไปในผนังเซลล์เพื่อจับกับเป้าหมายภายในก็ได้ และเนื่องจากมะเร็งแต่ละชนิดมีเส้นทางที่ใช้ในการเจริญเติบโตของเซลล์ไม่เหมือนกัน ยา targeted therapy แต่ละตัวจึงมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน เช่น ยาที่เป็นแอนติบอดีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์มะเร็ง ยาที่ไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต ยาที่ยับยั้งตัวรับ (receptor) ที่อยู่บนผิวของเซลล์ 
 
ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธี targeted therapy ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม หรืออาจใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัดโดยร่วมกับเคมีบำบัดหรือร่วมกับการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งให้หายขาด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงและยังไม่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด รวมถึงไม่สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ทุกราย เนื่องจากมะเร็งบางชนิดจำเป็นต้องมียีนที่ตอบสนองต่อยา แพทย์จึงต้องทำการตรวจผู้ป่วยก่อนว่ามียีนที่สามารถใช้สำหรับการรักษาด้วย targeted therapy ได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จำเป็นจะต้องมียีน KRAS ชนิด wild-type หรือ KRAS ที่ไม่กลายพันธุ์ จึงจะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยยา EGFR inhibitor เป็นต้น
 
สำหรับผลข้างเคียงของการรักษา แม้การรักษาแบบ targeted therapy จะออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งเป้าหมาย จึงอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้ายานั้นมีผลต่อเป้าหมายหลายจุด ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ท้องเสีย อาการทางผิวหนัง (เช่น ผิวหนังอักเสบ มีผื่น) ผลต่อตับ ผลต่อไต ผลต่อหัวใจ และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงระหว่างที่ได้รับยา อย่างไรก็ดี ยา targeted therapy แต่ละชนิดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน การรักษาด้วย targeted therapy จึงควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อแพทย์จะได้ประเมินผลความปลอดภัยของการใช้ยา รวมถึงการตอบสนองต่อยาด้วย
 
การรักษาโรคมะเร็งแบบ targeted therapy จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิดมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ในทางการแพทย์ก็ยังคงมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ targeted therapy ต่อไปเรื่อยๆ การรักษาแบบ targeted therapy จึงนับว่าเป็นความหวังของการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจสู้กับโรคต่อไป
 
 
เรียบเรียงโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs