bih.button.backtotop.text

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีรังสีรักษา

รังสีรักษา หรือ radiation therapy เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยใช้หลักการเดียวกันกับการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ กล่าวคือ เป็นการใช้รังสีตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด

รังสีรักษามักใช้ในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังอยู่เฉพาะที่ (localized prostate cancer) หรือระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่อข้างเคียง เนื่องจากให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

ทั้งนี้ เกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังอยู่เฉพาะที่หรือไม่ ได้แก่

  1. พิจารณาจากระยะของโรค โดยดูที่ขนาดของก้อนมะเร็ง การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และการกระจายไปยังอวัยวะที่ไม่ติดต่อกันโดยตรง
  2. พิจารณาจากความรุนแรงของมะเร็ง หรือ (Tumor Grading) ซึ่งหาได้จากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ แล้วให้คะแนนตามความรุนแรงของมะเร็งที่เรียกว่า Gleason score โดยคะแนนมากหมายถึงมะเร็งมีความรุนแรงมาก คะแนนน้อยหมายถึงมะเร็งมีความรุนแรงน้อย
  3. พิจารณาจากระดับของสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ PSA (Prostatic-Specific Antigen) ในเลือด เกณฑ์การพิจารณานี้นอกจากจะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังอยู่เฉพาะที่หรือไม่แล้ว ยังทำให้ทราบถึงระดับความเสี่ยงของโรคซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเทคนิคในการใช้รังสีรักษาอีกด้วย โดยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังอยู่เฉพาะที่สามารถแบ่งตามระดับความเสี่ยงได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
    • มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ คือมีค่า PSA ≤ 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (ng/mL), Gleason Score ≤ 6 และระยะของโรค (T-Stage) T1c to T2b จากทั้งหมด 4 ระยะ (T1-T4)
    • มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงปานกลาง คือมีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ มีค่า PSA > 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (ng/mL), Gleason Score ≥ 7 และระยะของโรค ≥ T2c
    • มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงสูง คือมีปัจจัยเสี่ยง 2 จาก 3 ปัจจัยต่อไปนี้ มีค่า PSA > 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (ng/mL), Gleason Score ≥ 7 และระยะของโรค ≥ T2c


รูปแบบของรังสีรักษาสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

รังสีรักษาสามารถใช้กับมะเร็งต่อมลูกหมากได้ครอบคลุมทุกชนิดความเสี่ยง โดยมีเทคนิคการรักษา 3 รูปแบบใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

1. การฉายรังสีระยะไกลจากภายนอก ( External Beam Radiation Therapy: EBRT หรือ Teletherapy) ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่าการฉายแสง โดยปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคนิครังสีรักษาภาพนำวิถี หรือ IGRT (Image Guided Radiation Therapy) ซึ่งเป็นการใช้ภาพของเนื้องอกหรือบริเวณที่ต้องการได้รังสีมาร่วมในการวางแผนการรักษา โดยแพทย์จะทำการฝังโลหะทองคำขนาดเล็กมากจำนวน 3 เม็ดไว้สำหรับกำหนดและตรวจสอบตำแหน่งในการฉายรังสีแต่ละครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการฉายรังสีเป็นไปอย่างแม่นยำและสามารถรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสีได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงของการรักษาและควบคุมโรคได้มากขึ้น

เทคนิค IGRT นี้นิยมใช้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ – ความเสี่ยงปานกลาง

IMG_1109.JPG

2. การให้รังสีระยะใกล้ ( Brachytherapy) หรือการฝังแร่ ซึ่งเป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีเข้าไปภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง ซึ่งในกรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การฝังแร่แบบถาวร เป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีไอโอดีน-125 (Low Dose Rate Interstitial Brachytherapy: LDR) ซึ่งมีขนาดเล็กและให้ปริมาณรังสีต่ำไว้ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร โดยต้นกำเนิดของรังสีจะค่อยๆ ปล่อยรังสีออกมาอย่างช้าๆ และค่อยๆ หมดลง วิธีการนี้แร่จะอยู่ในบริเวณต่อมลูกหมากตลอดไปโดยไม่ต้องเอาออก การฝังแร่แบบถาวรจะใช้รักษาในกรณีที่มะเร็งต่อมลูกหมากนั้นเป็นชนิดความเสี่ยงต่ำ
  • การฝังแร่แบบชั่วคราว เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็งแบบชั่วคราว โดยต้นกำเนิดของรังสีเป็นแร่คนละชนิดกับแร่กัมมันตรังสีที่ใช้ในการฝังแร่แบบถาวร กล่าวคือเป็นแร่ที่ให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูง (High Dose Rate Interstitial Brachytherapy: HDR) ทำให้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีสูงสุดในขณะที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียงได้รับรังสีในปริมาณต่ำ

ในการฝังแร่แบบชั่วคราวนี้ แร่จะถูกสอดผ่านท่อสวนขนาดจิ๋วด้วยการนำทางของคลื่นเหนือเสียง (TRUS หรือ transrectal ultrasound (TRUS) เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณความเข้มของรังสีให้มากน้อยต่างกันภายในบริเวณต่างๆ ของต่อมลูกหมาก และเมื่อเอาออกก็จะไม่มีแร่กัมมันตภาพรังสีหลงเหลืออยู่ในต่อมลูกหมาก ซึ่งการฝังแร่แบบชั่วคราวชนิดรังสีสูงนี้นิยมใช้กับกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงชนิดปานกลาง-ความเสี่ยงสูง

3. การฉายรังสีระยะไกลจากภายนอกร่วมกับการฝังแร่ โดยแพทย์จะใช้เทคนิค VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy) ซึ่งเป็นเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม IMRT (Intensity Modulated Radiation Therapy) ที่ได้รับการพัฒนาให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย ร่วมกับการฝังแร่แบบชั่วคราวชนิดรังสีสูง (High Dose Rate Interstitial Brachytherapy: HDR) เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพซึ่งแพทย์พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ใช้ในการเลือกวิธีการรักษา ได้แก่ ตำแหน่ง ขนาด และการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงภาวะความเจ็บป่วย อายุ และความคาดหวังของผู้ป่วยซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่ครบถ้วนเพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองอย่างแท้จริง


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงของการใช้รังสีรักษาโรคมะเร็งมักเกิดจากการที่อวัยวะข้างเคียงหรือเนื้อเยื่อปกติที่ติดกับก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีไปด้วย ดังนั้นผลข้างเคียงจึงขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำหัตถการ ในกรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณลำไส้ใหญ่และกระเพาะปัสสาวะ คือ อาจทำให้ลำไส้ส่วนปลายอักเสบมีอาการท้องเสียหรือเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 1-4 ส่วนกระเพาะปัสสาวะอักเสบและปัสสาวะเป็นเลือดนั้น พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้รังสีรักษาในโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก โดยเป็นการรักษาอย่างตรงจุดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กังวลอย่างเช่นอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

จึงอาจกล่าวได้ว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีรังสีรักษานั้น นอกจากจะให้ผลการรักษาที่ดีแล้ว ยังสามารถควบคุมการเกิดโรคใหม่ และช่วยให้ผู้ป่วยคงคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ได้อีกด้วย


เรียบเรียงโดย นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์รังสีรักษา ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs