bih.button.backtotop.text

แผลกดทับ

แผลกดทับ คือ การบาดเจ็บเฉพาะที่ของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง มักจะพบบริเวณปุ่มกระดูกหรือบริเวณที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์กดทับ  

แผลกดทับ สามารถแบ่งได้ 6 ระดับ
  1. ยังไม่เป็นบาดแผล แต่ผิวหนังเริ่มเป็นสีแดง เมื่อใช้นิ้วมือกดรอยแดงไม่จางหายไป             
  2. มีการสูญเสียของชั้นผิวหนังแท้บางส่วน เห็นเป็นแผลเปิดตื้น ๆ มีพื้นผิวแผลสีแดง  อาจพบเป็นตุ่มน้ำใส
  3. มีการสูญเสียของเนื้อเยื่อถึงชั้นไขมัน แต่ไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก พื้นผิวแผลบางส่วนอาจมีเนื้อตายสีเหลือง อาจจะมีโพรงแผล และหลุมแผลเกิดขึ้น
  4. มีการสูญเสียผิวหนังทุกชั้น และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
  5. ระดับที่มีการบาดเจ็บเนื้อเยื่อชั้นลึก : ลักษณะสีของผิวหนังจะเปลี่ยนไปเป็นสีม่วง หรือสีน้ำตาลแดงหรือมีผิวหนังพองที่มีเลือดอยู่ข้างใน เนื่องจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายจากแรงกด และ/หรือแรงเลื่อนไถล
  6. ระดับที่ไม่สามารถบอกระดับได้  มีการสูญเสียของ เนื้อเยื่อชั้นที่ลึกมาก ซึ่งพื้นผิวแผลจะปกคลุมด้วยเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว /หรือมีเนื้อตายที่เป็นสะเก็ดดำหนา ปกคลุมบริเวณพื้นผิวแผล

แผลกดทับมักพบได้ในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยหรือไม่ได้เลย ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ พลิกตะแคงตัวเองไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะเรื่องของ “แผลกดทับ” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อย หากเป็นแล้วก็อาจส่งผลร้ายแรงเกิดการติดเชื้อที่แผล และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
แผลกดทับเกิดจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายได้รับแรงกดเป็นเวลานาน อันส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่เพียงพอ หากเลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะที่ถูกดทับ เนื้อเยื่อของอวัยวะดังกล่าวจะถูกทำลายและเริ่มตาย เนื่องจากเลือดจะลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นและช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับมีดังนี้
  • แรงกด หากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายถูกกดทับเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงไม่เพียงพอ เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่ลำเลียงมากับเลือดไปหล่อเลี้ยง เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ จึงถูกทำลายและอาจตายได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย อาจเกิดการกดทับที่ปุ่มกระดูกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกก้นกบ สะโพก ส้นเท้า
  • การเสียดสี ผิวหนังที่เสียดสีกับเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนจะเกิดแผลกดทับได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ผิวหนังอับชื้น หรือการพลิกตัวผู้ป่วยโดยการลากหรือดึงก็สามารถทำให้เกิดแผลได้
  • แรงเฉือน ชั้นผิวหนังถูกรั้งกันไว้ มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยนอนไถลตัวลงมาในขณะที่เตียงปรับระดับสูง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณก้นกบเกิดการดึงรั้ง
  • ความชื้น หากผิวหนังมีความชื้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ ไข้
  • ขาดการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวไม่ค่อยดี เช่น นอนติดเตียงตลอดเวลา ไม่สามาถพลิกตัวได้เอง หรือไม่มีผู้ช่วยเหลือในการพลิกตัว
  • มีลักษณะผอม ผิวหนังบาง ขาดน้ำ ขาดอาหาร ลักษณะมีปุ่มกระดูกนูนออกมาชัดเจน
  • โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย
  • ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้น การใส่ผ้าอ้อมไว้เป็นเวลานาน
สิ่งสำคัญในการรักษาแผลกดทับ คือ การลดภาวะเสี่ยงจากการกดทับ ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูกน้อยลง มีการกระจายน้ำหนักจุดรับน้ำหนักให้เหมาะสม การดูแลทำแผลให้เหมาะสม บรรเทาอาการเจ็บแผล ป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น

 วิธีการรักษาแผลกดทับ ได้แก่
  1. ลดแรงกดทับ โดยจัดท่านอนผู้ป่วยให้พลิกตัวอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง นอนหนุนศีรษะไม่สูงเกิน 30 องศา ไม่นั่งหรือนอนกดทับแผล
  2. การทำแผล ทั้งนี้ขึ้นกับระดับของแผลกดทับ ร่วมกับแผลมีการติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้นในการทำแผลแพทย์จะพิจารณาดูให้เหมาะสมกับแผล โดยมีการประเมินแผลและเลือกวัสดุปิดแผลให้เหมาะสม
  3. การตัดเนื้อตาย แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป เพราะเนื้อตายจะขัดขวางการหายของแผล แผลกดทับจะหายได้ต้องไม่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อตาย และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ตามความหมาะสม
  • อุปกรณ์ช่วยลดแรงกดทับ เช่น ฟูกชนิดพิเศษ ที่นอนลม แผ่นโฟมปิดบริเวณปุ่มกระดุกลดแรงเสียดสีและแรงกดทับ แผ่นเจลลดแรงกดทับ
 
  • อุปกรณ์ทำแผลขั้นสูง (Advance Wound Dressing) 
วัสดุใส่ในแผลหรือแผ่นปิดแผลที่สามารถช่วยกระตุ้นกระบวนการสมแผลทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น เช่น Alginate dressing, Hydrocolloid dressing, Foam dressing, Hemoglobin Spray เป็นต้น โดยมีแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะของแผล
 
  • การรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy)             
ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและเส้นเลือดฝอย ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะในร่างกายที่มี ออกซิเจนและเลือดไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงช่วยให้บาดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อแบคทีเรียช่วยป้องกันและต่อสู้กับการติดเชื้อบางชนิด ลดอาการบวมของเนื้อเยื่อ
 
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Photo Therapy: Healite II LED)
Healite II LED Phototherapy (yellow) เป็นนวัตกรรมแสงบําบัด เพื่อช่วยในการสมานแผล โดยใช้พลังงานแสงที่มีความยาวคลื่นเฉพาะ ช่วยสมานแผล ลดอาการบวม อักเสบของเนื้อเยื่อ กระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ช่วยเร่งกระบวนการการหายของแผล ช่วยเพิ่มคอลลาเจนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อกลับคืนสู่สภาพเดิม 
 
  • การรักษาแผลโดยใช้คลื่นกระแทก (Electro Hydraulic Shock Wave)
เป็นเครื่องที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ของแผลและเพิ่มหลอดเลือดฝอยขนาดเล็กในบริเวณที่ทำการรักษา ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
 
  • การรักษาแผลโดยวิธีสุญญากาศ  (Negative Pressure Wound Therapy)
คือการทำแผลโดยวิธีสุญญากาศ เป็นการรักษาแผลด้วยระบบปิดที่ความดันต่ำกว่าบรรยากาศ โดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นสายเล็ก ๆ สอดอยู่ในแผล มีปลายอีกด้านต่อเข้ากับเครื่องสุญญากาศเพื่อช่วยระบายเลือดหรือสารคัดหลั่งออกจากแผล จะช่วยกระตุ้นกระบวนการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น 
 
  • การรักษาด้วยหนอนบำบัด(Maggot Therapy)
เป็นการรักษาด้วยหนอนแมลงวันสายพันธ์แมลงวันสายพันธุ์  Lucilia sericata สามารถกำจัดเนื้อตาย โดยหนอนแมลงวันจะผลิตเอนไซม์ออกมาช่วยย่อยเนื้อตายในแผล แล้วจะดูดน้ำที่ย่อยแล้วเข้าไป  รวมถึงเนื้อตายแล้วถูกย่อยก็จะดูดเข้าไปในตัวหนอนด้วย โดยหนอนแมลงวันที่นำมาใส่ในแผลจะถูกบรรจุอยู่ในถุงเรียกว่า Bio Maggot ทำให้เนื้อตายที่คลุมพื้นผิวแผลถูกกำจัดออกไป ส่งผลให้แผลหายได้เร็วยิ่งขึ้น  
 
  • เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนทางผิวหนัง (Transcutaneous oxygen monitoring equipment: TCOM)
เป็นการวัดค่าแรงดันออกซิเจนผ่านทางผิวหนัง โดยวัดออกซิเจน (O2) จากที่ถูกปล่อยออกมาจากหลอดเลือดฝอยมาสู่ชั้นผิวหนัง วัดโดยการติดหัววัด Electrode ในบริเวณที่ต้องการทำการวัดค่าการวัดที่ได้จะบอกถึงข้อมูลความสามารถของร่างกายในการนำส่งออกซิเจนเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อ

 
การดูแลรักษาแผลกดทับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นการรักษาโดยทีมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางที่พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขี้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ลดโอกาสการเสียชีวิต และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง
 

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์รักษาแผลแบบองค์รวม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs