- แจ้งให้ผู้สูงอายุทราบทุกครั้งที่จะเคลื่อนย้าย อธิบายและให้คำแนะนำที่สั้นและเข้าใจง่าย
- ก่อนจะเคลื่อนย้าย ผู้ดูแลต้องอยู่ใกล้และอยู่ด้านที่ผู้สูงอายุจะเคลื่อนตัวหรือพลิกตัว
- จับส่วนต้นหรือส่วนปลายของร่างกายที่จะเคลื่อนไป เพื่อใช้เป็นจุดควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น ข้อไหล่ ข้อเท้า
1. การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ
1.1 การเคลื่อนย้ายบนเตียง
วิธีการเคลื่อนย้าย: ผู้สูงอายุอยู่ในท่านอนหงาย ให้ผู้สูงอายุตั้งข้อศอกทั้ง 2 ข้าง ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง ถ้าต้องการขยับตัวไปทางซ้ายหรือขวา ให้ผู้สูงอายุออกแรงกดที่ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง และที่เท้าทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับขยับไหล่เคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ ค่อยๆ ถัดลำตัวและสะโพกตามไป แต่ถ้าต้องการขยับลำตัวขึ้นหรือลง ให้กดข้อศอกทั้ง 2 ข้างและที่เท้าทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับขยับไหล่เคลื่อนไปในทิศทางขึ้นหรือลง ค่อยๆ ถัดลำตัวและสะโพกตามไป กรณีที่ผู้สูงอายุไม่มีแรง ผู้ดูแลอาจใช้วิธีช่วยดึงขอบผ้าที่ปูรองลำตัวผู้สูงอายุ หรือใช้มือทั้ง 2 ข้างช้อนใต้สะบักหรือสะโพกเพื่อพยุงและดันลำตัวช่วยผู้สูงอายุอีกแรงหนึ่ง
1.2 ท่าลุกนั่งไปยืน
วิธีการเคลื่อนย้าย: ผู้สูงอายุนั่งข้างเตียง ผู้สูงอายุค่อยๆ ขยับก้นมานั่งริมขอบเตียง ข้อเท้าอยู่หลังข้อเข่า กางขาเล็กน้อยพอประมาณ ค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า ลงน้ำหนักที่เท้าทั้ง 2 ข้าง เหยียดเข่า ยืดลำตัวขึ้น และหน้ามองตรง
1.3 ย้ายลำตัวจากรถเข็นมาที่เตียง
วิธีการเคลื่อนย้าย: ผู้สูงอายุนั่งบนรถเข็น ผู้ดูแลเข็นรถเข็นทำมุมกับเตียง 45 องศา โดยให้ลำตัวด้านที่มีแรงมากกว่าอยู่ใกล้เตียง ล็อกรถเข็น บอกให้ผู้สูงอายุเลื่อนตัวออกมาทางด้านหน้า ผู้ดูแลยืนอยู่ด้านหน้าผู้สูงอายุ โดยมือข้างหนึ่งของผู้ดูแลสอดแขนใต้รักแร้และมืออีกข้างหนึ่งประคองเอวด้านหลังของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุใช้มือทั้ง 2 ข้างกดที่วางแขนรถเข็น ค่อยๆ เหยียดเข่ายืนขึ้นและหมุนตัวหันหลังไปทางเตียง แล้วค่อยๆ งอเข่างอสะโพกนั่งบนเตียง
1.4 พยุงเดินได้อย่างปลอดภัย
วิธีการเคลื่อนย้าย: ผู้สูงอายุยืนตรง ผู้ดูแลใช้เข็มขัดรัดเอวของผู้สูงอายุไว้เพื่อใช้ประคอง ให้ผู้สูงอายุเกาะแขนข้างหนึ่งของผู้ดูแล ส่วนแขนอีกข้างของผู้ดูแลเอื้อมมาประคองที่เข็มขัดไว้ โดยผู้ดูแลยืนเยื้องไปทางด้านหลังของผู้สูงอายุ ผู้ดูแลให้จังหวะการก้าว ให้ก้าวขาพอประมาณ ยืดลำตัวตรง หน้ามองตรงตลอดการเดิน
2. การฝึกลุกขึ้นจากพื้นเมื่อผู้สูงอายุเกิดการล้ม
วิธีการทีละขั้นตอน
2.1 อย่าตกใจ สำรวจอาการบาดเจ็บและค่อยๆ พยายามขยับตัวช้าๆ ถ้าบาดเจ็บมากหรือไม่สามารถขยับร่างกายได้ ให้เรียกขอความช่วยเหลือทันที
2.2 ค่อยๆ งอเข่า ยันตัวพร้อมกับพลิกลำตัวมาด้านที่ไม่บาดเจ็บ
2.3 ขยับร่างกายมานั่งทับด้านใดด้านหนึ่ง ใช้แขนยันตัวเพื่อพยุงไว้หรือผู้ช่วยเหลือเข้าช่วยประคอง
2.4 ค่อยๆ หมุนตัวมาในท่าตั้งคลานอย่างช้าๆ และคลานมาให้ใกล้เตียงหรือเก้าอี้ให้ได้มากที่สุด วางมือทั้งสองข้างที่เตียงหรือเก้าอี้อย่างระมัดระวัง และค่อยๆ ขยับมาในท่าคุกเข่า
2.5 ใช้มือและขาทั้ง 2 ข้างออกแรงดัน เหยียดเข่า ยันลำตัวลุกขึ้นยืนพร้อมกับหมุนลำตัวมานั่งเตียงหรือเก้าอี้อย่างช้าๆ นั่งพักสักครู่ ห้ามยืนหรือเดินทันที
3. การช่วยออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันข้อต่อยึดติด
ข้อควรระวัง ยืดในมุมที่ผู้สูงอายุตึงและไม่รู้สึกเจ็บ ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
3.1 ท่ายกแขน
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงาย แขนแนบลำตัว ผู้ดูแลทำการยกแขนของผู้สูงอายุขึ้นเหนือศีรษะและเคลื่อนแขนลงช้าๆ
3.2 ท่ากางแขน
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงาย แขนแนบลำตัว ผู้ดูแลทำการกางแขนของผู้สูงอายุออกจากลำตัว หันฝ่ามือเข้าหาลำตัวผู้สูงอายุตลอดเวลา และหุบแขนเข้าหาลำตัวช้าๆ
3.3 ท่าฝึกหายใจ ขยับทรวงอก ในท่ายกแขนโดยใช้ไม้พลอง
วิธีการ: ผู้สูงอายุนั่งลำตัวตรง ไม่นั่งห่อไหล่ ผู้ดูแลบอกให้ผู้สูงอายุใช้มือทั้ง 2 ข้างจับไม้พลอง ยกไม้พลองขึ้นเหนือศีรษะ ไม่ให้ยักไหล่ โดยผู้ดูแลอาจประคองหรือไม่ประคองไม้พลองช่วย ขณะยกขึ้นให้หายใจเข้าสูดลมเข้าช้าๆ ไปที่หน้าท้อง และหายใจออกให้เป่าลมออกทางปากช้าๆ พร้อมกับขยับไม้พลองลงมา ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
3.4 ท่างอและเหยียดข้อศอก
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงาย กางแขนเล็กน้อย ผู้ดูแลเคลื่อนแขนของผู้สูงอายุในลักษณะงอข้อศอก ค้างไว้ 10 วินาที และค่อยๆ เหยียดข้อศอก ค้างไว้ 10 วินาทีในมุมที่ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเจ็บ
3.5 ท่างอเข่างอสะโพก
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงาย ผู้ดูแลจับบริเวณใต้ข้อเท้าข้างที่จะขยับก่อน และอีกมือหนึ่งจับที่บริเวณใต้เข่าของขาข้างเดียวกัน และค่อยๆ ขยับในท่างอเข่าและงอสะโพกขึ้นมาช้าๆ และค่อยๆ เคลื่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำสลับอีกข้าง
 |
 |
3.6 ท่ากางสะโพก
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงาย ผู้ดูแลจับบริเวณใต้ข้อเข่าข้างที่จะขยับก่อน และอีกมือหนึ่งจับที่บริเวณใต้ข้อเท้าของขาข้างเดียวกัน และค่อยๆ ขยับในท่ากางสะโพกออกด้านข้างช้าๆ และค่อยๆ เคลื่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำสลับอีกข้าง
4. การช่วยออกกำลังกายผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนัก
4.1 ท่ายกก้น
วิธีการ: ผู้สูงอายุนอนหงายชันเข่า 2 ข้าง ผู้ดูแลบอกให้ผู้สูงอายุแขม่วท้องน้อยและขมิบก้น พร้อมกับค่อยๆ ยกก้นขึ้นในมุมที่ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเจ็บโดยไม่กลั้นหายใจ และค่อยๆ เคลื่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง
4.2 นั่งเตะขา ใส่ถุงทราย
วิธีการ: ผู้สูงอายุนั่งลำตัวตรง ผู้ดูแลพันถุงทรายที่บริเวณขาข้างที่ต้องการจะบริหารและบอกให้ผู้สูงอายุค่อยๆ เตะขาขึ้นในท่าเหยียดเข่าตรงอย่างช้าๆ ในมุมที่ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเจ็บ โดยไม่กลั้นหายใจ และค่อยๆ เคลื่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง สลับทั้ง 2 ข้าง
4.3 ท่ายกแขนขึ้น ใส่ถุงทราย
วิธีการ: ผู้สูงอายุนั่งลำตัวตรง ผู้ดูแลพันถุงทรายที่บริเวณแขนข้างที่ต้องการจะบริหารก่อน และบอกให้ผู้สูงอายุค่อยๆ ยกแขนขึ้นหรือผู้ดูแลประคองแขนช่วยยกขึ้นเหนือศีรษะอย่างช้าๆ ในมุมที่ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเจ็บ โดยไม่กลั้นหายใจ และค่อยๆ เคลื่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง สลับทั้ง 2 ข้าง
4.4 ท่ายันตัวกับเตียง เพื่อเพิ่มแรงในการยันตัวลุกขึ้น
วิธีการ: ผู้สูงอายุนั่งลำตัวตรง เท้า 2 ข้างวางราบกับพื้น ผู้ดูแลบอกผู้สูงอายุให้แบมือหรือกำมือ (ในกรณีเจ็บข้อมือ) ทั้ง 2 ข้าง วางลงที่เตียง ค่อยๆ ออกแรงยันตัวให้ลำตัวยืดขึ้น ค้างไว้ นับ 1-5 วินาทีโดยไม่กลั้นหายใจ และค่อยๆ กลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง