bih.button.backtotop.text

เทคโนโลยีใหม่FTRD ความหวังใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

13 ธันวาคม 2564

กว่าร้อยละ 30-50 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน มีทางป้องกันและรักษาได้ ซึ่งรวมถึง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด FTRD สามารถทำการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้นได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด


บำรุงราษฎร์ ชูเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด FTRD ความหวังใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 10 ล้านราย โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งชนิดที่วินิจฉัยบ่อยที่สุดเป็นอันดับสามของโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 2 ล้านราย รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงเป็นอันดับสอง จำนวน 935,000 รายทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาตรวจวินิจฉัยใหม่พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 21,103 ราย และเสียชีวิตถึง 6,039 ราย

 DDC-03.jpg

รศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะตรวจพบได้ด้วยการมาตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนอาการในระยะหลังๆ ที่พอสังเกตได้จะมีน้ำหนักลด ทางเดินลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการท้องบวม ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งในลำไส้ใหญ่ด้านขวา อุจจาระจะเป็นสีดำ แต่หากพบมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย อุจจาระก็จะเป็นสีแดง หรือมีภาวะซีด ซึ่งอาจจะพบจากการตรวจเลือดเพื่อสาเหตุอื่น
 
สิ่งที่ขอเน้นย้ำคือ กว่าร้อยละ 30-50 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน มีทางป้องกันและรักษาได้ ซึ่งรวมถึง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมาก โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดขึ้นในลำไส้ จากนั้นมะเร็งจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสุดท้ายจะแพร่กระจายไปยังปอดและ/หรือตับ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยขณะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังปอดและ/หรือตับ จะมีโอกาสรอดชีวิตในเวลา 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 14 แต่หากตรวจพบในต่อมน้ำเหลือง อัตราอยู่รอดจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 ที่สำคัญหากมาตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็ได้ทราบตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์จะได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม ซึ่งอาจตรวจพบภาวะก่อนเป็นมะเร็ง หรืออาจตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกที่มะเร็งยังอยู่ในลำไส้ใหญ่ และยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90”

FTRD-System-auf-Endoskop-mit-Greifer_trans.png
FTRD_ProcedureGrasper_wMarking_2019-05-09_allSteps.png

 
ล่าสุดโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำเทคโนโลยีใหม่ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น โดยไม่ต้องผ่าตัด และไม่ต้องเปิดหน้าท้องเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรือเรียกว่า ‘Full-Thickness Resection Device หรือ FTRD’ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ ที่มะเร็งยังอยู่ในลำไส้ใหญ่หรือมีขนาดไม่ถึง 3 เซนติเมตร ผ่านการส่องกล้องที่ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ปลายกล้องติดอุปกรณ์ มีรูปร่างคล้ายหอยมือเสือที่ใช้คอนเซ็ปต์การทำงาน ‘ปิดก่อนตัด’ โดยแพทย์จะสามารถตัดก้อนเนื้อและปิดรอยตัดในลำไส้ใหญ่ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อมะเร็งได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีแผลที่หน้าท้อง ลดการติดเชื้อและลดการเสียเลือดจากแผลที่ผ่าตัด เป็นการทำหัตถการผ่านทางทวารหนักคล้ายกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั่วไป ใช้เวลารักษาเร็วกว่าการผ่าตัด ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว นอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาการแทรกซ้อนได้อีกด้วย
 
ปัจจุบัน บำรุงราษฎร์จะมีการประชุม Multidisciplinary Tumor Board ทุกสัปดาห์ เพื่อปรึกษาและกำหนดแนวทางการรักษาร่วมกัน ประกอบด้วยอายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง แพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ซึ่งรวมถึงรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา แพทย์เวชพันธุศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมะเร็งระดับโมเลกุล พยาบาลวิชาชีพ และเภสัชกร รวมกว่า 30-50 ท่าน เพื่อมุ่งให้การดูแลรักษาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ 
 
รศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า “ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอแนะนำให้มาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีสำหรับการตรวจค้นหามะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้น และ 45 ปีสำหรับการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้น ทั้งนี้การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งต้องพิจารณาระยะของโรคและปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยแพทย์พร้อมให้คำแนะนำและอธิบายถึงข้อดีและข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย”