bih.button.backtotop.text

บำรุงราษฎร์ร่วมกับเซนต์ แอนนาแห่งเยอรมัน จัดอบรมผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

02 กรกฎาคม 2557

บำรุงราษฎร์ร่วมกับเซนต์ แอนนาแห่งเยอรมัน จัดอบรมผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เล็งปีหน้าเพิ่มเวิร์คช็อปดามเหล็กผ่านผิวหนัง

อาการปวดคอและปวดหลัง นับเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยในระยะยาว และบั่นทอนศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน มีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน โดยเฉพาะอาการปวดคอหรือปวดหลังอันเป็นผลจากการดำเนินชีวิตในยุคดิจิตัล ที่โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ กลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน 
 
ในการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่บริเวณกระดูกคอหรือกระดูกสันหลัง  รวมทั้งการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบจากการหนาตัวขึ้นของกระดูกหรือเส้นเอ็นจนบีบรัดเส้นประสาท ในปัจจุบันนี้เรามีเทคนิคที่เรียกว่า การผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยสอดกล้องผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตร พร้อมเลนส์ที่ปลายกล้อง แพทย์จึงสามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาออกได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ผู้ป่วยจึงใช้เวลาพักฟื้นน้อย และผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยกว่าเดิม
 
เทคนิคการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป คิดค้นและพัฒนาโดย นพ. เซบัสเตียน รุทเทิน นายแพทย์ชาวเยอรมัน จนได้รับการยอมรับและกลายมาเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของวงการศัลยแพทย์กระดูกสันหลังระดับโลก เมื่อ นพ. รุทเทิ่น ได้มอบหมายให้สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ เป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปแห่งแรกและแห่งเดียวนอกประเทศเยอรมนี ในฐานะตัวแทนศูนย์ฝึกอบรม ฯ ของภูมิภาคเอเชีย
 
โรงพยาบาลเซนต์ แอนนา แห่งเยอรมัน จึงร่วมกับ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปทุกปี ปีละ 3 ครั้ง โดยจัดขึ้นที่ประเทศเยอรมัน 2 ครั้ง และที่สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์1 ครั้ง 

ถึงปีนี้ การจัดประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยมีศัลยแพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในการฝึกอบรมทุกครั้ง ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้เข้ารับการอบรมเป็นศัลยแพทย์ชาวไทย และอีกครึ่งหนึ่งเป็นศัลยแพทย์จากนานาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป บราซิล ไนจีเรีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน อิหร่าน และอินเดีย

 จัดอบรมผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้อง
 
การจัดอบรมครั้งล่าสุดในปี 2557 นี้ มีแพทย์เข้าร่วม 41 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน ในวันแรกจะมีการบรรยายและสาธิตการผ่าตัดในเทคนิคขั้นต้น และเทคนิคขั้นที่ยากขึ้นสำหรับในวันที่สอง แพทย์ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้ฝึกการผ่าตัดด้วยกล้อง ฯ ในอาจารย์ใหญ่ และเนื่องจากในปีนี้มีแพทย์ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากขึ้นจากปีที่แล้ว ผู้จัดจึงเพิ่มโต๊ะฝึกอบรมจาก 7 โต๊ะเป็น 10 โต๊ะ 
 
เรื่องที่น่ายินดีคือมีแพทย์ไทยที่ให้ความสนใจเข้าฝึกอบรมเพิ่มขึ้นทุกปี จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ ต่างจังหวัด หรือโรงเรียนแพทย์ โดยส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลที่สั่งซื้อเครื่องมือแล้วทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีต่อวงการแพทย์ไทยที่จะมีศัลย์แพทย์ซึ่งสามารถผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนในวงกว้าง 
 
นอกจากนี้ในระดับสากลยังได้รับความสนใจจากแพทย์ทางฝั่งอเมริกาและจีนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เริ่มต้นจากมาเข้ารับการฝึกอบรมที่ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรม ฯ ของภูมิภาคเอเชีย ก่อนนำกลับไปฝึกฝนโดยทำการผ่าตัดในผู้ป่วยหลายร้อยราย จนกระทั่งมีการจัดการฝึกอบรม ฯ เต็มรูปแบบขึ้นเองในประเทศจีนแล้ว ในการนี้ มีแพทย์จากสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้รับเชิญไปร่วมสอนด้วย
 
ด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้ร่วมมือกับ นพ.รุทเทิ่น ในนามของโรงพยาบาลเซนต์ แอนนา และบริษัทริชาร์ด วูล์ฟ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของเยอรมัน ในการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ด้วยการเปิดตัวกล้องขนาด 10.5 มิลลิเมตรในปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกสันหลังให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

กล้องใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ สามารถนำมาใช้ในคนไข้ที่มีภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบจากการเกิดหินปูนเข้าไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีการกรอกระดูก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ใหญ่ขึ้นเพื่อลดขั้นตอนการทำงานและย่นเวลาในการผ่าตัดลง ซึ่งกล้องตัวนี้ถือว่าเข้ามาทำให้การรักษาภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้หลากหลายขึ้น
 
ส่วนการพัฒนาในลำดับถัดไป ทางสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการถ่ายทอดเทคนิคการรักษาที่กว้างกว่าเดิม จึงได้เตรียมพร้อมสำหรับการจัดฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีการดามเหล็กผ่านผิวหนัง สำหรับการรักษาอาการกระดูกสันหลังทรุดหรือเคลื่อนจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขาจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ
 
การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปนั้น ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทเป็นหลัก  ซึ่งเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ แพทย์จะเข้าไปเอาส่วนที่มีการกดทับหรือมีหินปูนเกาะออก แต่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากซึ่งประสบปัญหากระดูกสันหลังทรุดทั้งข้อ หลวม หรือเคลื่อนนั้น ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อดามเหล็ก เพื่อเสริมความมั่นคงส่วนที่ทรุดนั้นต้องหนุนขึ้นไปก่อนแล้วจึงดามเหล็ก ในกลุ่มนี้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบก่อให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา  ซึ่งไม่ต่างจากผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ดังนั้น ต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการผ่าตัด
 
ก่อนหน้านี้การผ่าตัดด้วยวิธีดามเหล็กต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดและบอบช้ำมาก  โดยมากต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลโดยเฉลี่ยประมาณ 5–7 วัน ปัจจุบันนี้  เราสามารถใช้เทคนิคผ่าตัดดามเหล็กผ่านผิวหนังทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง  ผู้ป่วยเสียเลือดและบอบช้ำน้อยลง  โดยเฉลี่ยผู้ป่วยลุกขึ้นเดินได้ใน 8-12 ชั่วโมง และพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 คืน 
 
หลังจากที่ทีมแพทย์ของทางสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้ผ่าตัดผู้ป่วยด้วยเทคนิคการดามเหล็กผ่านผิวหนังมาแล้วร่วม 200 ราย และเห็นว่าเทคนิคดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาผ่าตัดและลดความบอบช้ำของคนไข้ได้มาก จึงตั้งใจว่าในช่วงต้นปีหน้าจะจัดอบรมให้กับแพทย์ผู้สนใจในลักษณะเดียวกับที่ทำมาแล้วสำหรับการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเกินกว่าจำนวนที่ทางสถาบัน ฯ รองรับได้
 
 
    Scroll for more