bih.button.backtotop.text

กระดูกพรุน... รู้จัก ป้องกัน รักษาได้

โรคกระดูกพรุน คืออะไร ?

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเริ่มบางลง ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

โดยปกติแล้วโรคกระดูกพรุนมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน และมักเข้ารับการรักษาเมื่อผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากโรคแล้ว เช่น กระดูกแตก หรือกระดูกหัก
 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง ?

ร่างกายคนเราจะมีการสร้างและการสลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ โดยการสร้างกระดูกมีมากกว่าการสลายกระดูกในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 25-30 ปี กระดูกจึงค่อยๆ แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นร่างกายจะปรับเข้าสู่ช่วงถดถอย การสร้างกระดูกจะลดลง การสลายกระดูกจะมากขึ้น ทำให้มวลกระดูกค่อยๆ ลดลงตามอายุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่แต่ละบุคคลได้รับ สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน อาจมาจากการสะสมมวลกระดูกที่น้อยเกินไป หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกที่มากเกินไป ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง ได้แก่

 

ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้


อายุมากขึ้น เพศหญิง ชาวผิวขาวหรือคนเอเชีย มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน

 

ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล

 
ฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชายที่ลดลงในช่วงวัยทอง ฮอร์โมนไทรอยด์สูง ต่อมพาราไทรอยด์และต่อมหมวกไตทำงานมากผิดปกติ


อาหาร


 
การขาดสารอาหารจากการควบคุมน้ำหนัก การรับประทานแคลเซียมน้อย มีการผ่าตัดทางเดินอาหารที่ส่งผลต่อการดูดซึมอาหาร

 

ยาบางชนิด


การใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาว (มากกว่า 3 เดือน) การใช้ยารักษาโรคลมชักบางชนิด การใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหารกลุ่ม Proton pump inhibitors การใช้ยารักษามะเร็งบางชนิด การใช้ยากดภูมิต้านทานบางชนิด


โรคประจำตัว

 

โรคลำไส้อักเสบ โรคตับ โรคไต โรคมะเร็งบางชนิด โรครูมาตอยด์
 

 
 

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน


วิธีที่มีความแม่นยำคือ การวิเคราะห์ความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mineral density: BMD) โดยใช้เครื่องตรวจมวลกระดูก ซึ่งจะวัดที่กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine หรือ L-spine) และกระดูกสะโพก (Hip) หากความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ถึงระดับหนึ่ง จะสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนได้
บุคคลที่แนะนำให้ตรวจวิเคราะห์ความหนาแน่นของมวลกระดูก ได้แก่
  • ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
  • ผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ชายอายุ 50-69 ปี ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน หรือเคยมีประวัติกระดูกแตกในวัยผู้ใหญ่
  • ผู้ที่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน หรือใช้ยาที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • มีประวัติบิดาหรือมารดามีกระดูกสะโพกหัก
  • อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการตรวจคัดกรองด้วยการคำนวณความเสี่ยงในการที่จะเกิดกระดูกหัก


เราสามารถป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร ?

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง งาดำ ปลาขนาดเล็กหรือปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทานกระดูกปลาได้ นอกจากนี้ อาหารที่มีวิตามินดีสูงก็มีความสำคัญ เพราะวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยพบมากในปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และนม
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำเป็นช่วงเช้าหรือเย็นที่มีแดดอ่อนๆ จะช่วยเพิ่มวิตามินดีในร่างกายได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และสูบบุหรี่


การรักษาโรคกระดูกพรุน ทำอย่างไรได้บ้าง ?


การรักษาเริ่มแรกในผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่่ยง เช่น การรับประทานแคลเซียมหรือวิตามินดีเสริม การออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทกน้อย ร่วมกับการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน และความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน ได้แก่

 


 
กลุ่มยา


 
รายการยา


ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)
ยากลุ่มแรกที่ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนทั้งชายและหญิง มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีด โดยช่วยลดการสลายกระดูก จากการยับยั้งการทำงาน รวมถึงทำให้อายุของเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูกลดน้อยลง ลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก

 

  • Alendronate
  • Alendronate + Vitamin D3
  • Ibandronic acid
  • Risedronate
  • Zoledronic acid

 
ยาฮอร์โมนเพศหญิงและชาย
เมื่อฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก


 

เพศหญิง: Estrogen
เพศชาย: Testosterone


ยากลุ่มฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระดูก
ยากลุ่มนี้มีความจำเพาะต่อผลของฮอร์โมนเพศที่กระดูก ป้องกันการดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูก



 

Raloxifene


กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody)
ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญและพัฒนาการของเซลล์สลายกระดูกแบบจำเพาะเจาะจง ทำให้มีผลลดกระบวนการสลายกระดูกได้ดี

 
Denosumab ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทุก 6 เดือน


ยาพาราไธรอยด์ฮอร์โมน
เพิ่มการทำงานของเซลล์ที่สร้างกระดูก กระตุ้นการสร้างกระดูก



 
Teriparatide ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 1 ครั้ง



สำหรับระยะเวลาในการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไปนั้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต่อเนื่องประมาณ 3 - 5 ปี และคอยติดตามอาการไม่พึงประสงค์รวมถึงผลกระทบจากการใช้ยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ป่วย


หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตลอด 24 ชั่วโมง
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs