มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้เป็น อันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี โดยสาเหตุยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสร้างโครโมโซมที่ผิดปกติขึ้นมา และร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้ จึงพัฒนากลายเป็นมะเร็งในที่สุด
โดยทั่วไป ซีสต์ จะไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง แต่ปัญหาคือในการตรวจเบื้องต้น อาจแยกไม่ได้ว่าเป็นซีสต์ธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง เพราะในระยะแรกอาจยังมีขนาดเล็ก จำเป็นต้องตรวจติดตาม หากพบว่าขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีลักษณะน่าสงสัยมากขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดหรือตัดออกเพื่อตรวจชิ้นเนื้อ
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
ปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจน คือความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยเฉพาะยีน BRCA หากผู้ป่วยมี BRCA1 positive จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าคนปกติถึง 40% ส่วน BRCA2 positive จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 15%
ปัจจัยลดความเสี่ยง ได้แก่ การทำให้รังไข่พักหรือหยุดทำงาน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด ช่วงที่รับประทานยาคุม รังไข่จะไม่มีการตกไข่ จึงได้พัก หรือช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งตลอด 10 เดือนจะไม่มีการตกไข่ รวมถึงช่วงให้นมลูกอีกประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ที่รังไข่ไม่ทำงานเช่นกัน วิธีเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่
อาการของมะเร็งรังไข่
- รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
- เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มจนอึดอัดถึงแม้รับประทานอาหารอ่อนๆ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้องคลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรือปัสสาวะบ่อย
- น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
- คลำก้อนเนื้อได้ในท้องน้อย ปวดท้องน้อย
- ในระยะท้ายๆ อาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้ง น้ำหนักลด
จุดสำคัญของ มะเร็งรังไข่ คือ มักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น หากมีอาการ มักจะเป็นระยะมากแล้ว เนื่องจากเยื่อหุ้มรังไข่ค่อนข้างบาง เมื่อมีอาการเช่น ปวดท้อง ท้องอืด น้ำในช่องท้องระคายเคือง จึงมักแสดงในระยะที่โรคลุกลามแล้ว
การตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ
ทางที่ดีที่สุด คือการจัดการตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการตรวจคัดกรอง เมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ การตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่ง่ายและเหมาะสมที่สุดคือ การอัลตราซาวด์ช่องท้อง หากพบในระยะเริ่มต้นจริง ๆ หรือ ระยะ 1A ซึ่งมะเร็งยังอยู่เฉพาะในรังไข่ข้างเดียวและยังไม่ทะลุออกนอกเปลือก อาจสามารถเก็บมดลูกและรังไข่ข้างที่เหลือไว้ได้ หากผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร
แต่หากผู้ป่วยไม่ได้วางแผนมีบุตร หรือพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว มักจำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้าง มดลูก ต่อมน้ำเหลือง และเยื่อบุช่องท้องร่วมด้วย
หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของสตรี สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 มิถุนายน 2568