bih.button.backtotop.text

ปวดไหล่รุนแรง ระวังโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่

ปวดไหล่รุนแรง ระวังโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่
ถึงแม้โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่หรือภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis) หรือที่เรียกกันว่าภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากบริเวณที่แคลเซียมสะสมเกิดการอักเสบ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงได้ การสะสมของแคลเซียมพบได้บริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น หัวไหล่ ข้อเท้าและข้อเข่า แต่มักพบบ่อยที่สุดที่บริเวณเส้นเอ็นหมุนข้อไหล่ที่ใช้ในการยกแขนเรียกว่า Supraspinatus Tendon

โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่มีสาเหตุจากอะไร

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีส่วนนำมาจากความเสื่อมสภาพอายุขัยที่มากขึ้นและ/หรือความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆที่มักเกินขึ้นจากการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา  โรคนี้มักพบในคนที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปีและพบส่วนใหญ่ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการของโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่มีอย่างไรบ้าง

ในระยะแรกที่มีการสะสมของแคลเซียม ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง อาการของโรคโดยทั่วไปมีได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • อาการปวดอย่างฉับพลันหรือข้อไหล่ติดยึด
  • รู้สึกปวดเวลาเคลื่อนไหวไหล่หรือยกแขน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดมากจนรบกวนการนอนหลับ
  • เคลื่อนไหวไหล่ได้ไม่เต็มที่
อาการปวดที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับภาวะนี้ที่พบได้บ่อยคือ เกิดจากอาการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด มีไข้ คล้ายกับการติดเชื้อในข้อไหล่ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน

จะสามารถให้การวินิจฉัยโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ได้อย่างไร

แพทย์จะซักประวัติและตรวจการเคลื่อนไหวของไหล่ และอาจใช้เครื่องมือตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยดังนี้

  • การตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), CT scan
  • การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์

แนวทางการรักษาโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง

สามารถรักษาได้ 2 แนวทางคือการรักษาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด

  • การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 90% สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดรักษา การรักษาทำได้ดังนี้
    • การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เป็นวิธีที่ช่วยลดการอักเสบและอาการเจ็บปวดได้ดีที่สุด ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะกลัวการฉีดยาสเตียรอยด์ แต่แพทย์จะใช้สำหรับกรณีที่ถือว่ามีความจำเป็นจริงๆ
    • การรับประทานยาเม็ดสเตียรอยด์ อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย แต่ควรใช้ตามที่แพทย์สั่ง
    • การรับประทานยาลดอาการอักเสบ ลดปวด เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดการอักเสบและการเจ็บ ซึ่งอาจจะให้ผลการรักษาได้ไม่ดีนักสำหรับโรคนี้
    • การทำกายภาพบำบัด, การบำบัดด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave), การบำบัดด้วยอัลตร้าซาวด์ (Therapeutic Ultrasound) มีรายงานให้ผลการักษาที่ดี  อย่างไรก็ตาม หากหลังทำแล้วพบว่ามีอาการปวดมากขึ้น ควรหยุดทำและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อน
    • การฉีดน้ำเกลือเข้าไปยังบริเวณที่มีแคลเซียมเกาะ (Lavage Treatment)
    • ลดกิจกรรมที่ใช้ข้อไหล่
  • การรักษาแบบผ่าตัด วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเอาก้อนแคลเซียมออก ในขณะเดียวกันแพทย์จะพิจารณาเย็บซ่อมแซมเอ็นหมุนข้อไหล่หากมีการฉีกขาด โดยทั่วไปในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลัน ไม่แนะนำให้เลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากภาวะการอักเสบที่รุนแรงจะพบว่ามีเลือดออกง่าย และเอ็นหมุนข้อไหล่เปื่อยยุ่ย มีความยากลำบากในการเย็บซ่อมแซม การแนะนำให้รักษาแบบประคับประคองในระยะอักเสบเฉียบพลัน และพิจารณาการผ่าตัดในรายที่มีการอักเสบแบบเรื้อรัง หรือในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบประคับประคองน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่า
การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อนำก้อนแคลเซียมออกและการเย็บซ่อมแซมเอ็นหมุนข้อไหล่ เป็นการผ่าตัดแบบ minimal invasive หลังผ่าตัดใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจต้องใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ (sling) หลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการขยับของข้อไหล่

โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่
โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีหลังการรักษา
 
จะป้องกันโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ได้อย่างไรบ้าง
ถึงแม้โรคนี้จะป้องกันไม่ได้แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ เช่น ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากรู้สึกเจ็บปวดบริเวณไหล่ควรลดกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อไหล่และพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัย

โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  หากสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าวเมื่อมีอาการปวดในข้อไหล่ ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมา เช่น  เอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาด หรือข้อไหล่ติดอย่างรุนแรง 

ที่ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เรามีผู้ชำนาญการในการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าคุณพบกับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บนั้นอาจเกิดจากเสื่อมสภาพตามวัยก็ตาม ศูนย์ของเราได้มีการผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาและศัลยกรรมกระดูกและข้อ มุ่งหวังที่จะช่วยฟื้นฟู ดูแลรักษาให้คุณกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว  ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มุ่งหวังให้การป้องกัน วินิจฉัย และรักษาความผิดปกติ การบาดเจ็บของระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อโดยทีมผู้ชำนาญการพร้อมศักยภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด

เรียบเรียงโดย นพ. วิชาญ กาญจนถวัลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสสร์กระดูกและข้อ, การบาดเจ็บจาการเล่นกีฬา และเวชศาสตร์กีฬา



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs