bih.button.backtotop.text

ไขข้อข้องใจ จะเลือก “โปรแกรมตรวจสุขภาพ” อย่างไรดี

28 มกราคม 2562

ไขข้อข้องใจ จะเลือก “โปรแกรมตรวจสุขภาพ” อย่างไรดี


การตรวจสุขภาพเป็นการตรวจคัดกรองโรค เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคหรือโรคเรื้อรังแอบแฝงที่ผู้ป่วยไม่ทราบมาก่อน เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงหรือรักษาโรคต่อไป

แต่คำถามที่คนส่วนใหญ่มักสงสัยคือ จะเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับตนเอง หลักการง่ายๆ 2 ข้อที่แพทย์แนะนำ คือ เลือกโปรแกรมโดยดูจากช่วงอายุและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลเป็นหลัก โดยปัจจัยเสี่ยงนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงาน ประวัติความเจ็บป่วย ประวัติโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์  รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตโดยทั่วไปของแต่ละบุคคล เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรามาก ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดสูง หรือบางท่านที่นิยมซื้ออาหารเสริมมารับประทานเอง เป็นต้น

คำถามต่อไป เป็นคำถามที่เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีอยู่ในใจกันมาแล้ว นั่นคือรายละเอียดของการตรวจสุขภาพแต่ละรายการที่นอกเหนือจากรายการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ตรวจระดับน้ำตาล ระดับกรดยูริก ระดับไขมันในเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ปอด  ตรวจการทำงานของตับและไตในเบื้องต้น มีการตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง ตรวจแล้วได้ประโยชน์อย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกัน
 

สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แพทย์แนะนำให้ตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยมีรายการดังนี้

 
  • ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Panel) การตรวจสุขภาพปกติจะเป็นการตรวจดูค่า Creatinine ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ประมาณการอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate, eGFR ) แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ร่วมด้วย เพราะเป็นการวัดปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายโปรตีนโดยที่สารของเสียจะถูกสร้างเป็นสารยูเรีย (urea) และถูกกำจัดผ่านไต โดยส่วนประกอบสำคัญของ ยูเรีย (urea) คือไนโตรเจน หากไตเสื่อมก็จะมีการคั่งของไนโตรเจนเกิดขึ้น จึงสามารถช่วยบ่งบอกความสามารถในการขับของเสียของไต
 
  • ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Panel) การตรวจทั่วไปจะตรวจดูความผิดปกติของตับจากค่าเอนไซม์ตับ (AST หรือ Aspartate aminotransferase; Serum glutamic-oxaloacetic transaminase; SGOT และ ALT หรือ Alanine aminotransferase; Serum glutamate-pyruvate transaminase) ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติหรือการอักเสบของตับ และการตรวจ ALP (Alkaline phosphatase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ เช่น ตับ กระดูก ลำไส้เล็ก ไต หากมีโรคหรือภาวะใดที่ตับ ALP มักจะมีค่าสูงขึ้นเสมอ เช่น ตับอักเสบ โรคมะเร็งตับ ยาที่เกิดพิษต่อตับ ฯลฯ (ALP จะมีความไวในกรณีซึ่งได้เกิดมะเร็งจากที่อื่นแล้วลุกลามมาที่ตับ ) โดยที่ผลเลือดที่ใช้ตรวจการทำงานของตับตัวอื่น ๆ อาจจะยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงค่าสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต
 

 สำหรับผู้สูงอายุ ,ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรตรวจการทำงานอื่นๆของตับร่วมด้วย โดยเพิ่มรายการตรวจเช่น


- Billubin (Total Billubin และ Direct Billubin) ค่าที่ผิดปกติบ่งบอกถึงการเกิดโรคของตับ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ เช่น ไต เม็ดเลือดแดง หรือนิ่วในถุงน้ำดี
 
- Total Protein (Albumin และ Globulin) ปริมาณโปรตีนรวมในกระแสเลือด ผลิตโดยตับ หาก Albumin ต่ำ อาจเกิดจากการขาดสารอาหาร กลไกการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติ ตับทำงานผิดปกติหรือมีโรคตับ (ทำให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้) โรคไต โรคในช่องทางเดินอาหาร เป็นต้น

Globulin เป็นองค์ประกอบของภูมิต้านทาน ค่าผิดปกติอาจเกิดจากโรคตับ โรคไต โรคทางพันธุกรรมหรือโรคและภาวะอื่นๆ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ หรือมะเร็งบางชนิด

Gamma GT (“Gamma-glutamyl transferase” หรือ “Gamma-glutamyl transpeptidase”) เป็นเอนไซม์ตัวหนึ่งของตับ ใช้บ่งชี้ความผิดปกติของเซลล์ตับ เนื่องจาก GGT จะมีความไวต่อการสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความผิดปกติใด ๆ ของตับ ค่ามักผิดปกติในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด โรคตับและโรคของท่อน้ำดี
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Panel Test)
- TSH เป็นฮอร์โมนที่ต่อมใต้สมองหลั่งออกมาเพื่อควบคุมการทำงานของไทรอยด์ ช่วยบ่งบอกว่าร่างกายมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (hyperthyroidism) หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism)

- Free T3 และ Free T4 คือไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ช่วยควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยบ่งบอกว่าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือไม่ หากระดับสูงกว่าปกติอาจหมายถึงภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หากระดับต่ำกว่าปกติ อาจหมายถึงภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis Screening) โรคตับอักเสบ B และโรคตับอักเสบ C ถือเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลระยะยาวต่อสุขภาพ เพราะเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบ B สามารถป้องกันด้วยวัคซีน ดังนั้นคนที่ไม่มีภูมิต้านทานหรือมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง ควรฉีดวัคซีนป้องกัน  แต่หากพบว่าติดเชื้อแล้ว แพทย์จะช่วยรักษาและควบคุมเชื้อไวรัสในร่างกายเพื่อลดการอักเสบของตับ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื่อ พังผืดในตับ ป้องกันการเกิดตับแข็ง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ สำหรับโรคตับอักเสบ C ถึงแม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถดูแลรักษาได้
- HBsAg คือการตรวจว่ามีเชื้อตับอักเสบ B อยู่ในร่างกายหรือไม่

- HBsAb คือการตรวจว่าขณะนี้มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B หรือไม่
- Anti HCV คือการตรวจหาเชื้อตับอักเสบ C อยู่ในร่างกายหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อตับอักเสบ B
  • ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Markers) เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง ที่ตามสถิติแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ โดยจะตรวจสารบ่งชี้โรคมะเร็งดังต่อไปนี้
- CEA for GI Cancer การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งทางเดินอาหาร รวมถึงมะเร็งปอดและมะเร็งอื่นๆบางชนิด

- AFP for Liver Cancer การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเพื่อช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับ รวมถึงมะเร็งอัณฑะและมะเร็งอื่นๆ บางชนิด

- PSA for Prostate Cancer การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

- CA 125* การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่ในผู้หญิง

- CA 19-9 ช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนและมะเร็งของท่อน้ำดี
  • ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ (Digital Mammogram with Ultrasound Breast) เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ขึ้นไป ตรวจแมมโมแกรมเป็นระยะๆ โดยเฉพาะผู้ที่อายุระหว่าง 45-54 ปี โดยตรวจแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์หน้าอก เพื่อช่วยเพิ่มความละเอียดในการการตรวจประเมินโรค หากมีความเสี่ยงสูงสามารถตรวจก่อนอายุ 40 ปี หรือปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงการตรวจอื่นๆ ตามความเสี่ยงเป็นรายๆ ไป
 
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกกับตรวจภายในร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (Pap Smear and Pelvic Exam + HPV (Co-test)) แนะนำให้ตรวจภายในร่วมกับตรวจหาเชื้อเอชพีวีสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยตรวจหาเชื้อเอชพีวี สำหรับคนอายุน้อยและยังไม่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชพีวี สามารถฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจหรือมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจหาเชื้อเพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน หรือหากพบว่าติดเชื้อแล้ว แพทย์จะทำการตรวจที่ละเอียดและนัดตรวจอย่างต่อเนื่องมากขึ้น
 
  • ตรวจสุขภาพตา (Eye Exam and Dilated Eye Exam: Acuity, Tonometry, OCT & Fundus) สายตาเปลี่ยนไปตามอายุ การตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรือในภาวะแรกเริ่ม รวมถึงช่วยแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตาเอียงหรือสายตายาในผู้สูงอายุ

- Eye Exam: Acuity and Tonometry เป็นการตรวจสุขภาพตาโดยทั่วไป เช่น วัดความสามารถในการรมองเห็น ความดันลูกตาและประเมินปัญหาเกี่ยวกับจอตาได้ในระดับหนึ่ง
 

สำหรับผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แพทย์แนะนำให้ตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยมีรายการดังนี้


- Vitamin B12 มีผลต่อการทำงานของระบบสมอง ความจำและการสร้างเม็ดเลือด ในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติรวมถึงไม่รับประทานไข่และนม ผู้สูงอายุร่างกายมีการดูดซึมวิตามินลดลง การตรวจระดับวิตามิน B12 เพื่อประเมินระดับวิตามินในร่างกาย และพิจารณาให้วิตามินเสริมในผู้ที่ขาด จะ ช่วยในการป้องกันปัญหาเรื่องระบบประสาทและสมองในผู้สูงอายุ และผู้ที่ร่างกายขาดวิตามิน B12 จากสาเหตุอื่นๆ ได้

- Calcium เพื่อดูปริมาณแคลเซียมในเลือด ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของร่างกายโดยเฉพาะที่กระดูก ช่วยบ่งบอกการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ ไต การอักเสบของตับอ่อน หรือโรคกระดูกบางชนิด เป็นต้น
 
- Bone Mimeral Density (BMD) L-Spine & Hip เป็นการตรวจความหนาแน่นของกระดูกสันหลังส่วนเองและกระดูกข้อสะโพก เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้สุขภาพของกระดูกว่าอยู่ในระดับปกติดีหรือไม่ มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจนอาจอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์กระดูกหัก โดยมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากโรคกระดูกบางหรือกระดูกพรุนหรือไม่ การตรวจความหนาแน่นของกระดูกช่วยในการวางแผนเพื่อชะลอการสูญเสียมวลกระดูกหรือรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่แรกเริ่ม
 
- Microalbuminuria / creatinine ratio เป็นการตรวจภาวะเสื่อมของไตในระยะเริ่มแรก โดยประเมินว่าไตมีความสามารถในการเก็บโปรตีนไว้ในเลือดได้หรือไม่ ควรตรวจเมื่ออายุมากขึ้น เพราะประสิทธิภาพการทำงานของไตลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน

-ตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Ankle Brachial Index: ABI) หรือการตรวจหลอดเลือดตีบตันแขนขาCardio Ankle Vascular index(CAVI) เป็นการวัดความยืดหยุ่นของเส้นเลือดแดง  หากหลอดเลือดแข็งกระด้าง หรือเสียความยืดหยุ่นอาจเกิดจากการมีตะกรันในหลอดเลือด ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ มีโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ควรได้รับการตรวจเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน

- Dilated Eye Exam: Acuity, Tonometry, Oct & Fundus) ตรวจสุขภาพตาโดยขยายรูม่านตา เป็นการตรวจสุขภาพตาที่ละเอียดยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะหยอดยาให้รูม่านตาขยายเพื่อดูจอประสาทตาด้านในและความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดที่เสื่อมสภาพลง
 

ส่วนผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป รายการที่ควรตรวจเพิ่มเติมคือ


-Electrolytes: Sodium, Potassium เป็นการตรวจเกลือแร่ของเลือด โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำรอบ ๆ เซลล์และภายในเซลล์ มีความสำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต ส่วนโปแตสเซียมช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจและการทำงานของกล้ามเนื้อ หากระดับโซเดียมและโปแตสเซียมผิดไปจากเกณฑ์ปกติ ก็อาจมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหรืออาจทำให้การบังคับกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายลดประสิทธิภาพลง

ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้คัดสรรโปรแกรมตรวจร่างกายที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย รวมถึงสามารถจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่บุคคลโดยเฉพาะได้ หากยังไม่แน่ใจว่าควรตรวจอะไรบ้าง แพทย์ของเรายินดีให้คำแนะนำอย่างละเอียดเพื่อช่วยท่านจัดโปรแกรมการตรวจร่างกายที่ตรงกับตัวเอง นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ทำงานร่วมกันในการดูแลสุขภาพของท่านให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน


เรียบเรียงโดย นพ. อานนท์ คชประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ตรวจสุขภาพ) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดแพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs