bih.button.backtotop.text

13 ปีรักษ์ใจไทย กับหัวใจ 735 ดวง

18 มกราคม 2559

นพ.ปรีชา เลาหคุณากร และ ผศ.พญ.ธรรมบวร เนติ

“โลกของเด็กทั่วไปคือบ้านกับโรงเรียน แต่โลกของผมคือโรงพยาบาล ผมป่วยเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่เกิด คนเป็นโรคนี้จะเหนื่อยง่าย แต่คนที่เหนื่อยมากกว่าผมน่าจะเป็นแม่มากกว่า

ตั้งแต่จำความได้ ผมเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ แม่ต้องขาดงานบ่อยเพื่อพาผมไปหาหมอ จนหัวหน้าแม่ไม่ค่อยพอใจ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมอยู่โรงพยาบาลนานที่สุด แม่ลาออกจากงาน เพื่อมาเฝ้าผมหลังจากที่หมอตรวจพบว่าโรคหัวใจพิการของผมลุกลามจนไปทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อด้วย

...บ้านเราไม่ค่อยมีตังค์ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมารักษา แต่แม่ไม่ยอมแพ้ ในเมื่อแม่สู้ตาย ผมก็สู้ตายเหมือนกัน สู้เท่าที่ร่างกายของผมจะสู้ไหว หมอบอกว่าผมต้องผ่าตัดหัวใจและคงอยู่ได้อีกไม่เกิน 2 ปี

...แต่แล้วเราก็โชคดีที่ความช่วยเหลือมาถึงทันเวลา ตอนนี้หัวใจของผมแข็งแรงแล้ว ของแม่ก็เหมือนกัน”

นี่คือเรื่องราวจากภาพยนตร์สั้น “หัวใจต้องสู้” ที่สร้างจากชีวิตจริงของ ด.ช.ศรายุธ สัมฤทธิ์ หนึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ได้รับชีวิตใหม่ หลังการผ่าตัดโรคหัวใจในโครงการ “รักษ์ใจไทย”

ในแต่ละปีมีเด็กไทยป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมากถึง 8,000 คนในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ไม่เช่นนั้นเด็กจะเสียชีวิตหรือเติบโตด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ เด็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และแม้จะมีโอกาสได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลของรัฐ แต่ก็ต้องใช้เวลารอนานหลายปี เนื่องจากยังมีผู้ป่วยเด็กที่รอรับการผ่าตัดอีกมากมายและมีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

ด้วยเหตุนี้โครงการรักษ์ใจไทย โดยมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้เริ่มต้นขึ้นเพื่อช่วยผ่าตัดเด็กด้อยโอกาสที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 Better Health ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยถึงความเป็นมาและความคืบหน้าของโครงการฯ กับ นพ.ปรีชา เลาหคุณากร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็ก หนึ่งในคณะแพทย์ผู้ทำหน้าที่ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจให้กับเด็กๆ กว่า 700 ชีวิต ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา*

Better Health: โครงการรักษ์ใจไทยมีความเป็นมาอย่างไร

นพ.ปรีชา: อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อก่อนนี้โอกาสเข้าถึงการผ่าตัดหัวใจมีน้อย เพราะมีเด็กป่วยกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผ่าตัดมีไม่กี่แห่ง ทำให้เด็กต้องรอคิวผ่าตัดนาน ซึ่งโรคบางโรคนั้นรอไม่ได้ อย่างโรคที่ทำให้เส้นเลือดในปอดเสียหาย ถ้าเรารอนานจนเส้นเลือดเสียหายมากการผ่าตัดก็ช่วยชีวิตเด็กไว้ไม่ได้

ขณะนั้น ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เห็นว่าโรงพยาบาลเรามีศักยภาพพอที่จะช่วยเหลือมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ได้ เนื่องจากโรคหัวใจในเด็กจำเป็นต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางและการทำงานร่วมกันของบุคลากรอย่างเป็นระบบ ท่านจึงเสนอเรื่องเข้ามาซึ่งคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ขณะนั้น นำโดย ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และ ศ.พญ.อรดี จันทวสุ หัวหน้าแผนกกุมารเวชก็เห็นชอบ โครงการรักษ์ใจไทยจึงเกิดขึ้นและได้ร่วมงานกับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ตั้งแต่นั้นมา

Better Health: โครงการรักษ์ใจไทยช่วยมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ อย่างไรบ้าง

นพ.ปรีชา: นอกจากจะช่วยให้เด็กได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้นและจำนวนเด็กที่รอการผ่าตัดลดลงแล้ว ทางโครงการฯ ยังช่วยได้มากในกรณีของเด็กแรกเกิด เพราะเด็กแรกเกิดบางคนต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีไม่อย่างนั้นจะเสียชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลทั่วไปทำไม่ได้ โรงพยาบาลรัฐก็พยายามจะรับแต่มีข้อจำกัดเพราะเตียงไม่ว่าง แต่มาที่บำรุงราษฎร์ เราทำให้ได้เลย ก็จะช่วยให้โอกาสรอดของเด็กมีมากขึ้น ซึ่งกรณีแบบนี้มีเยอะมาก

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตอนนี้มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ามาช่วยกัน ที่ไหนทำได้เร็วก็ทำไปก่อน ตัวเลขเด็กที่รอผ่าตัดจึงลดลงมาก จากเดิมที่รอนับหมื่นคน ตอนนี้เหลือหลักพันเท่านั้น อย่างที่บำรุงราษฎร์ ทีมแพทย์ของเราซึ่งประกอบด้วย รศ.นพ.สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ผศ.พญ.ธรรมบวร เนติ วิสัญญีแพทย์ และผม ก็ช่วยกันผ่าตัดมากว่า 700 เคสแล้ว

Better Health: มีขั้นตอนในการรับเด็กเข้ารักษาอย่างไร

นพ.ปรีชา: ผู้ป่วยเด็กทุกคนจะต้องผ่านการคัดกรองจากมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ก่อน จากนั้นมูลนิธิจะส่งรายชื่อมาให้โรงพยาบาล แล้วทางเราจะติดต่อกับผู้ป่วยเพื่อนัดหมายการผ่าตัดต่อไป ยกเว้นในกรณีเร่งด่วนอย่างเด็กแรกเกิดซึ่งต้องผ่าตัดเลย ทางโรงพยาบาลที่รับเด็กเข้ามาจะติดต่อมาที่บำรุงราษฎร์โดยตรง เพราะถ้าผ่านมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ก็อาจจะไม่ทัน เราก็จะรับผู้ป่วยเข้ามาแล้วทำเรื่องย้อนกลับไปที่มูลนิธิว่ามีผู้ป่วยรายนี้เข้ามาแล้ว เพื่อให้มูลนิธิอนุมัติย้อนหลัง

ในการผ่าตัดทุกครั้ง โครงการรักษ์ใจไทยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยอาการ การผ่าตัด การพักฟื้นในโรงพยาบาล ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพัก ตลอดจนการเดินทาง ค่าอาหาร การจัดหาที่พักให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองพร้อมเบี้ยเลี้ยงเนื่องจากผู้ปกครองต้องหยุดงานมาพร้อมกับลูก รวมถึงขั้นตอนการตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัด ดังนั้น แม้แต่ครอบครัวที่ยากจนที่สุดก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาได้จนครบทุกขั้นตอนตามมาตรฐานของบำรุงราษฎร์
 
รศ.นพ.สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์

Better Health: แต่ละปีมีผู้ป่วยเด็กเข้ารับการผ่าตัดกับโครงการรักษ์ใจไทยกี่คน

นพ.ปรีชา: จำนวนไม่แน่นอน มีตั้งแต่ 40-80 ราย คือโครงการจะจัดสรรงบประมาณไว้ในแต่ละปี หากปีนั้นๆ ไม่มีเคสที่ซับซ้อนมาก เราก็จะสามารถช่วยเด็กได้หลายราย เพราะในรายที่ซับซ้อนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางครั้งสูงถึง 3 ล้านบาทต่อคน แต่โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดประมาณ 650,000 บาท

Better Health: โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อยได้แก่โรคอะไรบ้าง

นพ.ปรีชา: ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นโรคผนังหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ แต่ที่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ส่งมาให้เรามักเป็นเคสที่ซับซ้อนและมีความผิดปกติหลายอย่างในหัวใจ

ต้องบอกว่าในรายที่อาการหนักมาก บางครั้งเราช่วยไม่ไหวจริงๆ แต่ถ้าเด็กมีโอกาสรอด ถึงจะยากเย็นแค่ไหนเราก็ช่วยเต็มที่ มีอยู่ 2-3 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) เพราะถ้าไม่ใส่เด็กเสียชีวิตแน่นอน ซึ่งเคสแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่เราก็ช่วยทำการรักษาอย่างเต็มที่ โดยยึดมั่นว่าเด็กไม่ว่าจะรวยหรือจนเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน

Better Health: ขอถามถึงอนาคตของโครงการรักษ์ใจไทย

นพ.ปรีชา : ตราบใดที่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ ยังทำงานตรงนี้และหลายภาคส่วนยังให้การสนับสนุนโครงการนี้อยู่ เราก็จะทำต่อไป เพราะยังมีเด็กยากจนที่รอการผ่าตัดอยู่ โครงการนี้จะเป็นอีกช่องทางของการรักษาที่ช่วยเหลือเด็กในสังคม เพราะเด็กคือทรัพยากรสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต

เพราะการให้ชีวิตนั้นยิ่งใหญ่กว่าการให้ทั้งปวง ท่านสามารถให้ชีวิตใหม่แก่เด็กด้อยโอกาสด้วยการร่วมสมทบทุนกับโครงการรักษ์ใจไทยโดยสั่งจ่ายเช็คในนาม “มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” หรือบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 197-0-111157 ธนาคารกรุงเทพ สาขานานาเหนือ และส่งหลักฐานการโอนเงินได้ที่หมายเลขโทรสาร 0 2667 2031 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2667 1398

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs