bih.button.backtotop.text

รับมือกับโรคหัวใจในเด็ก

การได้ทราบว่าบุตรหลานตัวน้อยป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นสร้างความตระหนกตกใจและเป็นความทุกข์ใหญ่หลวงของพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ทั้งนี้เพราะเมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจในเด็ก คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ค่อนข้างจำกัดอยู่มาก

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซับซ้อน และบางครั้งไม่อาจสังเกตอาการได้ทันที แต่กว่าร้อยละ 99 สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้

การได้ทราบว่าบุตรหลานตัวน้อยป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นสร้างความตระหนกตกใจและเป็นความทุกข์ใหญ่หลวงของพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ทั้งนี้เพราะเมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจในเด็ก คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ค่อนข้างจำกัดอยู่มาก นพ. สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ ผู้มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคหัวใจในเด็กมากว่า 20 ปีจึงอาสามาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็กผ่านทาง Better Health ฉบับนี้ 
 

โรคหัวใจในเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้” นพ. สัมพันธ์อธิบาย “ส่วนที่สามารถบอกสาเหตุได้ คือ การที่แม่มีความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เป็นหัดเยอรมัน หรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และการใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เด็กเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจตั้งแต่กำเนิด สำหรับอุบัติการณ์นั้น สถิติของประเทศไทยก็เหมือนกับทั่วโลก กล่าวคือ เด็กที่เกิดใหม่จำนวน 1,000 คน จะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ในประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ที่มีปัญหาโรคหัวใจปีละประมาณ 8,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณร้อยละ 50 ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด”
 

โรคหัวใจเด็กที่พบบ่อย


โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เป็นคำเรียกรวมความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหลายประการที่เกิดกับผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อยที่สุด มีดังนี้
 

  1. ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect - ASD) ผลจากการที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องบน ทำให้เลือดไหลผ่านจากหัวใจห้องบนซ้ายผ่านรูรั่วไปห้องบนขวา ตรวจพบได้จากเสียงฟู่ที่หัวใจและผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ส่วนใหญ่มักถูกตรวจพบโดยบังเอิญ
  2.  ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect - VSD) มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดแดงจากหัวใจห้องล่างซ้ายผ่านรูรั่วไปยังห้องล่างขวา ออกสู่หลอดเลือดแดงของปอด ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปยังปอดมีมากขึ้น ปริมาณเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลให้หัวใจห้องซ้ายทำงานมากขึ้นจนหัวใจวายได้
  3.  มีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจใหญ่ทั้งสองเส้น (Patent Ductus Arteriosus - PDA) ทารกแรกเกิดทุกคนจะมีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจสองเส้น (Aorta และ Pulmonary Artery) และจะปิดเองภายในหนึ่งชั่วโมงหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ในกรณีผิดปกติช่องเปิดนี้จะไม่ปิด ส่งผลให้เลือดแดงกับเลือดดำผสมกัน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น 
  4.  มีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่างร่วมกับหลอดเลือดหัวใจที่จะไปยังปอดตีบหรือลิ้นหัวใจตีบ (Tetralogy of Fallot - TOF) เป็นโรคชนิดซับซ้อนที่พบบ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ปกติแล้วหัวใจจะส่งเลือดไปยังปอดเพื่อเอาเลือดไปฟอกให้มีออกซิเจนมากขึ้น แต่กรณีนี้ลิ้นหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดเล็กกว่าปกติ เป็นเหตุให้เลือดที่จะต้องถูกส่งไปฟอกที่ปอดมีน้อยกว่าปกติ จึงรั่วผ่านผนังห้องหัวใจไปออกทางด้านซ้ายและเอาไปเลี้ยงร่างกายต่อ กลายเป็นว่าเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายเป็นเลือดดำ เด็กจึงมีภาวะเขียว 
  5.  ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาตีบ (Pulmonary Valve Stenosis) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาเปิดไม่เต็มที่เนื่องจากหนาตัว แข็ง หรือเชื่อมประสานกันอย่างผิดปกติ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากกว่าเดิม
  6.  หัวใจห้องเดียว (Single Ventricle) เป็นความผิดปกติของหัวใจห้องล่างเป็นหลัก โดยเด็กกลุ่มนี้หัวใจห้องล่างสองห้องทำงานเหมือนเป็นห้องเดียวจึงทำให้ระบบรวนไปหมด เนื่องจากหัวใจห้องล่างสองห้องมีหน้าที่ต่างกัน คือ ห้องขวาทำหน้าที่บีบส่งเลือดดำไปฟอกยังปอดส่วนข้างซ้ายจะบีบเลือดที่ฟอกแล้วมาจากปอดเพื่อส่งไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกตินี้ทำให้ไม่มีการแบ่งทางเดินของเลือดอย่างชัดเจน เลือดดำกับเลือดแดงปะปนกัน เด็กจึงมีภาวะเขียวเสมอ
  7. หลอดเลือดใหญ่ของหัวใจสลับขั้ว (Transposition of theGreat Arteries - TGA) คือการที่หลอดเลือดดำและแดงของหัวใจสลับขั้วกันอย่างสิ้นเชิง จากขวาเป็นซ้าย จากซ้ายเป็นขวา ความผิดปกตินี้ทำให้เด็กที่เกิดมามีภาวะเขียวเนื่องจากเลือดที่ฟอกแล้วจากปอดถูกส่งกลับไปที่ปอด ขณะที่เลือดดำที่ถูกส่งมาที่หัวใจก็ถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ต่ออีก
 

การวินิจฉัย

โรคหัวใจในเด็กสังเกตอาการได้ง่ายแม้ว่าเด็กจะบอกไม่ได้ว่าเหนื่อย ใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก” นพ. สัมพันธ์กล่าว “แพทย์จะดูอาการของเด็กซึ่งมีอยู่เพียงสองอาการเท่านั้น คือ หัวใจวายกับอาการเขียว ถ้าเด็กเขียวก็สังเกตได้ง่าย แต่ถ้าหัวใจวาย หลายครั้งไม่อาจสังเกตได้ทันที พ่อแม่ของเด็กแทบจะไม่รู้เลย เพราะหัวใจวายในเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง”
 

ภาวะหัวใจวายในผู้ใหญ่ จะสังเกตได้จากอาการขาบวม หน้าบวมหอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย แต่ภาวะหัวใจวายในเด็กไม่มีอาการดังกล่าวดังนั้น ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการ ดังนี้
 

  • เลี้ยงไม่โต หมายความว่า สัดส่วนระหว่างส่วนสูง น้ำหนักตัว และอายุไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าต้องมีอะไรผิดปกติ 
  •  เมื่อกินนมต้องหยุดเป็นพัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมแม่หรือนมจากขวด เด็กทั่วไปจะดูดรวดเดียวหรือพักครั้งเดียวจบ ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่เด็กที่เป็นโรคหัวใจจะทำไม่ได้ ดูดได้พักเดียวต้องหยุดหอบ แล้วค่อยกลับไปดูดใหม่ กว่าจะอิ่มต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ตรงนี้สำคัญมากเพราะเป็นอาการที่พ่อแม่มักจะไม่ได้สังเกต และคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากเด็กดูดนมช้าหรือดูดแล้วหยุดเป็นพัก ๆต้องใช้เวลาในการให้นมแต่ละมื้อนานเป็นชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ก็ให้สงสัยไว้ก่อน 
  •  หายใจหอบถี่ หมายความว่าอาการแย่ลง เด็กแรกเกิดอาจหายใจ 40 ครั้งต่อนาที แต่เด็กที่หัวใจวายอาจหายใจเร็วถึง 60 ครั้งต่อนาที แม้ในขณะที่นอนหลับ
 

การรักษาและดูแล

การรักษาโรคหัวใจในเด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดนั้น มีอยู่ 3 วิธีได้แก่ การรักษาด้วยยา การทำหัตถการบางอย่างเพื่อซ่อมแซมความผิดปกติ และการผ่าตัด
 

“ปัจจุบัน แพทย์สามารถทำการผ่าตัดเด็กที่เป็นโรคหัวใจได้ทุกอายุ” นพ. สัมพันธ์กล่าว “สมัยก่อน ถ้าต้องทำการผ่าตัดหัวใจ จะต้องให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกิน 10 - 15 กิโลกรัมก่อนเพื่อความปลอดภัย และลดอัตราการเสียชีวิต แต่สมัยนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าจนทำให้เด็กทุกวัย ไม่ว่าจะน้ำหนักตัวเท่าไรก็เข้ารับการผ่าตัดได้ สิ่งที่ผมอยากเน้นก็คือว่า เมื่อไรก็ตามที่เด็กมีข้อบ่งชี้ให้ต้องทำการผ่าตัดหัวใจ ผู้ปกครองควรเชื่อคำแนะนำของแพทย์และอนุญาตให้มีการผ่าตัดโดยไม่รอช้าเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเด็กเอง เพราะความผิดปกติบางชนิด หากปล่อยให้เวลาผ่านไป โครงสร้างหัวใจของเด็กก็จะเปลี่ยนไป การผ่าตัดอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เรียกว่าเป็นการเสียโอกาสไปอย่างถาวรเลยทีเดียว”
 

ขณะที่การผ่าตัดช่วยเด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจที่ซับซ้อนให้ดีขึ้นได้การดูแลภายหลังผ่าตัดก็สำคัญมากไม่แพ้กัน “เมื่อผ่าตัดเสร็จเราถือว่าเสร็จเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อีกครึ่งคือการดูแลหลังการผ่าตัด เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่น มีการติดเชื้อ มีออกซิเจนต่ำ ความดันต่ำหรือมีอวัยวะที่ทำงานผิดปกติไป เด็กก็จะเสียชีวิตได้เช่นกัน โชคดีที่ปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยชีวิตต่าง ๆ ช่วยให้เราดูแลเด็กหลังผ่าตัดได้ดีขึ้นมากเช่น เครื่อง ECMO หรือ Extra Corporeal Membrane Oxygenator ซึ่งเป็นเครื่องช่วยชีวิตเด็กในยามคับขัน เครื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นปอดและหัวใจเทียมในระหว่างที่รอให้หัวใจและปอดของเด็กฟื้นตัวและทำงานเองได้ ส่งผลให้เด็กมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น” นพ. สัมพันธ์กล่าว
 

หลังจากผ่าตัด โรคหัวใจในเด็กจะดีขึ้นทันทีแต่แพทย์ยังจำเป็นต้องนัดตรวจติดตามอาการอีกเป็นระยะ ๆ ซึ่งนพ. สัมพันธ์เน้นว่า ผู้ปกครองต้องพยายามพาเด็กมาตามนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดซับซ้อน (เช่น TOF) เพื่อจะได้ตรวจพบความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้ นพ. สัมพันธ์ได้ฝากคำแนะนำแก่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานป่วยเป็นโรคหัวใจว่า “เมื่อหมอวินิจฉัยว่าลูกของคุณเป็นโรคหัวใจ อย่าตกใจหรือเสียกำลังใจ เพราะกว่าร้อยละ 99 รักษาได้ หรือทำให้ดีขึ้นได้ครับ ศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจ ให้ความร่วมมือกับแพทย์ โรคหัวใจในเด็กก็ไม่ยากเกินไปที่จะรับมือ” 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs