bih.button.backtotop.text

วิเคราะห์ปัญหาการปัสสาวะด้วยการตรวจยูโรไดนามิก (Urodynamic analysis)

วิเคราะห์ปัญหาการปัสสาวะด้วยการตรวจยูโรไดนามิก (Urodynamic analysis)

การตรวจยูโรไดนามิกหรือการตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ คือ การตรวจการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะโดยรวมตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะจนถึงท่อปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติของระบบควบคุมการขับปัสสาวะ

 

การตรวจยูโรไดนามิกสามารถตรวจอะไรได้บ้าง

การตรวจยูโรไดนามิกครอบคลุมการตรวจหลายอย่าง ตั้งแต่ตรวจการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูด ความสามารถในการกักเก็บปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะและภาวะปัสสาวะเล็ดขณะเบ่ง

 

การตรวจยูโรไดนามิกเหมาะกับใคร

การตรวจยูโรไดนามิกเหมาะกับผู้ที่มีอาการดังนี้
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระดับปานกลางหรือรุนแรง
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ
  • มีความผิดปกติในระบบควบคุมการขับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่หมด ไม่มีแรงเบ่ง
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะรู้สึกไม่สุด
 

การตรวจยูโรไดนามิกทำได้อย่างไร

การตรวจยูโรไดนามิกทำได้หลายวิธีโดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยแต่ละรายว่าเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การตรวจมากกว่าหนึ่งวิธี โดยวิธีการตรวจดังนี้
  • การตรวจความแรงปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นการวัดปริมาณ เวลาที่ใช้ และอัตราความแรงของปัสสาวะที่ถ่ายออกมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะขณะกำลังปัสสาวะ
  • การตรวจวัดความดันภายในกระเพาะปัสสาวะ (Pressure flow study) เป็นการดูความสัมพันธ์ของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะขณะกำลังปัสสาวะและอัตราการไหลของน้ำปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีปัญหาท่อปัสสาวะอุดตันหรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรงหรือไม่ 
  • การตรวจปริมาณปัสสาวะเหลือค้างหลังจากปัสสาวะเสร็จ (Postvoid residual urine)
  • การตรวจโดยดูความสัมพันธ์ของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะกับปริมาตรของน้ำที่เติมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ (Cystometry) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะและการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด
  • การตรวจวิดีโอปัสสาวะพลศาสตร์ (Video urodynamic tests) คือ การตรวจการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะด้วยการฉีดสารทึบรังสีผ่านทางสายสวน ร่วมกับการเอกซเรย์กระเพาะปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น
 

การตรวจยูโรไดนามิกมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

การตรวจยูโรไดนามิกมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนน้อยแต่อาจเกิดได้บ้าง เช่น
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการตรวจเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการใส่สายสวน ซึ่งมักไม่รุนแรง
  • การแพ้สารทึบรังสี ในกรณีตรวจ video urodynamic tests
 

การตรวจยูโรไดนามิกมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

การตรวจยูโรไดนามิกสามารถตรวจได้กับคนทุกวัย หากคนไข้สามารถให้ความร่วมมือได้ ยกเว้นผู้ที่มีอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะหรือมีท่อปัสสาวะตีบตัน ต้องรักษาให้หายก่อน

 

เตรียมตัวก่อนตรวจยูโรไดนามิกอย่างไร

  • ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ
  • การตรวจบางวิธี เช่น Cystometry ต้องมีการใส่สายสวนทางทวารหนัก คนไข้ต้องถ่ายอุจจาระก่อนการตรวจ แพทย์อาจให้ยาระบายเพื่อไม่ให้อุจจาระตกค้าง
 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังการตรวจยูโรไดนามิก

คนไข้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ อาจรู้สึกไม่สบายตัวและเจ็บเล็กน้อยระหว่างปัสสาวะ ซึ่งจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำเพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ
ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางสาขาย่อยหลากหลายสาขาในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอย่างครอบคลุมทุกมิติ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคมีความถูกต้องแม่นยำได้ผลลัพธ์ที่ดี


โดย นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
           E-mail: [email protected]

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs