bih.button.backtotop.text

อาการแบบไหน เสี่ยงโรคไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนคืออะไร
ภาวะไส้เลื่อน คือ การที่มีเนื้อเยื่อโผล่ผ่านทางจุดหรือพื้นที่ที่มีความอ่อนแอบนผนังหน้าท้องโผล่ออกมานอกช่องท้องแต่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้มองเห็นเป็นลักษณะก้อนนูนขึ้นมา โดยเนื้อเยื่อที่โผล่ออกมานี้ อาจจะเป็นเนื้อไขมัน ลำไส้ หรือ กระเพาะปัสสาวะ ก็ได้ เมื่อใดที่เกิดอาการนี้ขึ้นบริเวณหน้าท้องของเรา อาการนี้คือไส้เลื่อน

บริเวณที่เกิดขึ้นบ่อย คือ บริเวณเหนือหัวเหน่าใกล้กับขาหนีบ โดยเรียกว่า ไส้เลื่อนของขาหนีบ (Inguinal hernia)  ไส้เลื่อนชนิดนี้ เกิดขึ้นเพราะผนังหน้าท้องในบริเวณเหนือหัวเหน่ามีความอ่อนแอ  ทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายในถูกความดันในช่องท้องกด ทำให้โผล่ออกมา การที่ไส้เลื่อนเกิดที่บริเวณนี้บ่อยที่สุด ก็เพราะมนุษย์เรามีจุดอ่อนอยู่ที่บริเวณนี้อยู่ข้างละ 1 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ท่อนำน้ำอสุจิ และ กลุ่มเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มท่ออสุจินี้ผ่านจากภายในช่องท้องลงมาสู่ถุงอัณฑะในผู้ชายทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไส้เลื่อนชนิดนี้พบเจอในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงหลายเท่า ในบริเวณที่เป็นจุดอ่อนประกอบกับการที่มีเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อที่อ่อนแอ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดเป็นไส้เลื่อนขึ้นมาได้ โดยไส้เลื่อนส่วนมากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งสองข้าง  และก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นข้างหนึ่งก่อน เมื่อเวลาผ่านไปก็เป็นอีกข้างหนึ่งให้เห็นขึ้นมาภายหลัง

อาการของไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ
อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นก้อนนิ่มๆ โผล่นูนขึ้นมาในบริเวณเหนือหัวเหน่าใกล้กับขาหนีบ เมื่อมันโตมากขึ้น จะเห็นได้ชัดขึ้น บางรายก็อาจจะลุกลามจนลงไปในถุงอัณฑะ

อาการที่มีได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการปวด โดยทั่วไป มักจะเป็นอาการปวดหน่วงๆ ไม่รุนแรงมากนัก และจะสังเกตได้ว่า อาการปวดจะชัดขึ้นเมื่อมีการเบ่งให้เกิดความดันภายในช่องท้อง เช่น การเบ่งอุจจาระ หรือปัสสาวะ หรือ การออกกำลังกาย เป็นต้น อาการปวดหน่วงๆ จะรู้สึกได้พร้อมกับการที่ไส้เลื่อนโผล่ออกมาให้เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ยิ่งมีการเบ่งกล้ามเนื้อท้องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสปวดมากขึ้น และ ก้อนเนื้อจะนูนขึ้นมามาก ถ้าไส้เลื่อนยิ่งมีขนาดใหญ่ จะทำให้โอกาสในการโผล่ออกมาให้เห็นมากขึ้นด้วย ถ้าเราหยุดเบ่ง หรือ นอนราบลง ไส้เลื่อนที่โผล่ออกมานี้ก็จะแบนหายลงไป และอาการปวดหน่วงๆนี้ก็จะพลอยหายไปด้วย อย่างไรก็ตาม บางรายอาจจะเกิดไส้เลื่อนที่สามารถมองเห็นด้วยตา โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการใดๆให้สังเกตได้
 
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ไส้เลื่อนสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างฉับพลันได้ โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเบ่งอย่างรุนแรง บังเอิญไอหรือจามอย่างรุนแรง รวมถึงการออกแรงเบ่งกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เช่นการหักโหมเล่นกีฬาหรือยกน้ำหนัก จนอวัยวะที่ผ่านออกมามีมากเกินกว่าจะผ่านจุดนี้กลับลงไปได้

เมื่อเกิดภาวะนี้ อาการปวดหน่วงๆ จะกลายเป็นอาการปวดอย่างรุนแรง และก้อนที่โผล่ออกมาก็ไม่ยุบหายไป ถ้าเป็นอยู่นานขึ้นบริเวณของไส้เลื่อนก็จะกดเจ็บ หรือแม้แต่การขยับขาก็จะเจ็บจนทนไม่ไหว ในบางรายก็จะมีอาการอาเจียนและท้องอืดร่วมด้วย เนื่องจากเกิดภาวะการอุดตันของลำไส้เกิดขึ้น ถ้าทนให้ไส้เลื่อนนี้คงสภาพเช่นนี้นานหลายชั่วโมง อวัยวะส่วนที่โผล่ออกมาติดอยู่ในไส้เลื่อนนี้ก็จะเริ่มเน่าตายเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยงเพราะเส้นเลือดจะถูกขอบของไส้เลื่อนนี้บีบรัดจนเลือดไหลผ่านไม่ได้ นับว่าเป็นอันตรายที่สูงสุดของโรคนี้ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การรักษา

ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ไม่สามารถหายไปได้เอง จะหายได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

  • ไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็กและยังไม่มีอาการใดๆ อาจจะยังไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่คอยสังเกตอาการและหากเกิดอาการปวดรุนแรงขึ้นมา จำเป็นต้องรีบรักษาก่อนที่จะมีอันตรายเกิดขึ้น การใช้กางเกง หรือ เข็มขัดมากดทับบริเวณนั้น ไม่ใช่การรักษาและไม่มีประโยชน์ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
  • ไส้เลื่อนที่มีขนาดใหญ่ หรือ ลงถุงอัณฑะ และ ไส้เลื่อนที่มีอาการปวด แม้ว่าจะหายปวดทุกครั้งที่นอนราบ ควรได้รับการรักษาก่อนที่จะเกิดมีภาวะแทรกซ้อนอย่างที่กล่าวมาแล้ว สำหรับไส้เลื่อนที่เกิดภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วนก่อนที่จะเกิดอันตราย เมื่อใดก็ตามที่สังเกตว่า มีอาการปวดรุนแรง และ เปลี่ยนไปจากเดิมร่วมกับการโผล่ของไส้เลื่อนเกิดขึ้นโดยไม่ยอมหายไปจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ทันที ระยะเวลานับตั้งแต่เริ่มปวดจนถึงมือแพทย์ไม่ควรเกิน 4-6 ชั่วโมง หากมีไข้ ท้องอืดหรือปวดไปทั่วท้องร่วมด้วยจำเป็นต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด

วิธีการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนในเด็กจะใช้วิธีผ่าตัดโดยการเข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนหรืออาจจะร่วมกับการเย็บซ่อมจุดที่เป็น แต่ในผู้ใหญ่นั้นต้องทำการซ่อมส่วนที่อ่อนแอที่เป็นสาเหตุด้วยเสมอ โดยนำแผ่นใยสังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นตาข่าย (Mesh) มาปิดบริเวณที่อ่อนแอแทน ซึ่งทำให้ได้ผลดีขึ้นมาก ทั้งในด้านความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและอัตราการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ

วิธีผ่าตัดปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
 
  1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลที่เหนือหัวเหน่า ศัลยแพทย์ผ่าที่บริเวณเหนือหัวเหน่าข้างที่เป็นไส้เลื่อนยาวประมาณ 4-5 ซม. แล้วนำเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ในถุงไส้เลื่อนที่โผล่ออกมาให้กลับคืนลงไปในท้อง ก่อนที่จะเอาแผ่นตาข่ายปูปิดบริเวณนั้นทั้งหมดแล้วเย็บตรึงไว้ด้วยไหม จากนั้นทำการเย็บปิดแผล การผ่าตัดนี้สามารถทำภายใต้การดมยาสลบ หรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง แต่ในบางรายที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการดมยาสามารถใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ได้
  2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะเปิดแผลที่สะดือขนาดยาวประมาณ 1-1.5 ซม. แล้วนำกล้องซึ่งมีลักษณะเป็นท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 ซม.สอดเข้าไป จากนั้นก็เปิดแผลอีก 2 แผล แต่ละแผลมีขนาด 0.5 ซม. เพื่อเป็นช่องทางสำหรับนำเครื่องมือผ่าตัดสอดเข้าไป จะมีการเลาะเนื้อเยื่อด้านในของบริเวณหัวเหน่า เป็นบริเวณกว้าง เพื่อที่จะเอาแผ่นตาข่ายแบบเดียวกันเข้าไปปูปิดบริเวณนั้นจากด้านใน แล้วตรึงแผ่นนี้ด้วยตัวตรึงที่ทำด้วยสารสังเคราะห์ หรืออาจใช้วิธีเย็บตรึงไว้ด้วยเส้นไหมที่เหมือนกับอีกวิธีหนึ่ง การผ่าตัดวิธีนี้ต้องทำภายใต้ยาสลบเท่านั้น ข้อดีคือสามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งสองข้างโดยไม่มีแผลเพิ่ม
  3. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดระบบดาวินชี วิธีนี้เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาศัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาช่วยทำผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แผลเล็ก เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด  โดยศัลยแพทย์จะควบคุมการทำงานของแขนกลหุ่นยนต์ผ่านแผงคอนโซล ซึ่งแขนกลนี้สามารถหนุนได้ 7 ทิศทางช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้ชัดเจนผ่านกล้องสามมิติที่มีความคมชัด  
ทีมศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก


เรียบเรียงโดย
ศ.นพ. ไพศาล พงศ์ชัยฤกษ์
ศูนย์ศัลยกรรม
อาคาร A ชั้น 16



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs