bih.button.backtotop.text

“ออทิสติก” จะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็น

ออทิสติก เป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมอง ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและสังคม เชื่อว่าโรคนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยในเด็กเล็กบางคนอาจมีลักษณะความผิดปกติให้พ่อแม่เริ่มสังเกตได้ แต่ในบางรายอาจจะยังสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจน
 
โดยทั่วไปแล้วโรคออทิสติกจะส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม ซึ่งก็คือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการของลูกได้ ดังนี้
  • พัฒนาการด้านภาษา
    • พูดช้า หรือยังไม่พูดเมื่อถึงวัยที่สมควร
    • พูดคำซ้ำๆ
    • พูดด้วยภาษาของตัวเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ
    • พูดติดๆ ขัดๆ
    • พูดด้วยโทนเสียงที่ผิดปกติ
    • พูดไม่ชัดมากๆ
  • พัฒนาการด้านสังคม (การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง)
    • ไม่สบตา ไม่มองหน้า
    • ไม่สื่อสารแสดงความต้องการของตัวเอง เช่น ไม่ชี้ไปที่ของที่อยากได้
    • ไม่แสดงอารมณ์ทางสีหน้า ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ
    • ชอบเล่นคนเดียวหรืออยู่คนเดียว
    • ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เช่น ไม่ทักใครก่อน ไม่ยิ้มให้ ไม่ยิ้มตอบ วิ่งหนีเมื่อมีคนมาทัก
    • ไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้นานๆ
    • ไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
    • ไม่มีเพื่อนสนิทตามวัย
  • พัฒนาการด้านอื่นๆ
    • ชอบทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ
    • ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ เช่น ต้องใส่รองเท้าคู่เดิมสีเดิม ถ้าเปลี่ยนรองเท้าคู่ที่ใส่จะร้องไห้ไม่ยอมหยุด
    • ชอบเรียงของให้เป็นระเบียบ เช่น เรียงของเล่นให้เป็นแถวต่อๆ กันไป
    • สนใจวัตถุเฉพาะส่วน เช่น รถยนต์ของเล่น อาจจะสนใจดูแต่ส่วนล้อที่หมุนๆ พัดลมที่ส่ายไปมา หรือรายละเอียดบางอย่าง
    • ไม่เล่นสมมติตามวัย
 
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาออทิสติกจะเป็นช่วงเด็กเล็ก หมายถึงต้องก่อนอายุ 3-5 ขวบ จึงจะได้ผลดีที่สุด เพราะการรักษาจะเน้นการปรับพฤติกรรมและฝึกพัฒนาการสำหรับเด็กออทิสติกโดยเฉพาะ การรักษาในระยะเริ่มแรกจึงควรต้องเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเด็กปกติที่สุด
 
เรียบเรียงโดย พญ.สุพาพรรณวดี ฟู่เจริญ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs