bih.button.backtotop.text

ออทิสซึม

อาการออทิสซึมเป็นภาวะที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางพัฒนาการ แสดงความบกพร่องของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสาร ร่วมกับพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนซ้ำๆ ลักษณะหน้าตาของเด็กที่มีอาการออทิสซึมไม่มีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ความสามารถด้านการเรียนรู้ การคิด และการแก้ปัญหาของผู้ที่มีอาการออทิสซึมมีความหลากหลายตั้งแต่ ความสามารถระดับอัจฉริยะจนถึงมีปัญหารุนแรงทำให้ความต้องการช่วยเหลือแตกต่างกัน

จากข้อมูลวารสาร The Economist ในปี ค.ศ.2016 พบว่า ความชุกออทิสซึมเพิ่มขึ้นจาก 4.5:10,000 ในปี ค.ศ.1970 เป็น 1:68 ในปี ค.ศ.2016 โดยความชุกในเด็กผู้ชายสูงถึง 1:42 ทั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากโรคที่เพิ่มขึ้นจริงหรือเกิดจากการศึกษาวิจัยและเกณฑ์การวินิจฉัยที่เปลี่ยนไป

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นร่วมกันว่า ยีนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสำคัญต่อการเกิดออทิสซึม เด็กที่มีพี่น้องที่มีอาการออทิสซึมมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการออทิสซึม นอกจากนี้เด็กที่มีโรคทางพันธุกรรม เช่น โครโมโซมเอ็กซ์เปราะ (Fragile X syndrome) การที่มารดาขณะตั้งครรรภ์ได้รับยา valproic acid หรือ thalidomide มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการออทิสซึม มีข้อมูลสนับสนุนว่าการเกิดออทิสซึมเกิดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดทันที เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการออทิสซึม

พฤติกรรมที่แสดงของเด็กที่มีอาการออทิสซึม
มีความบกพร่องของทักษะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อารมณ์ และการสื่อสาร อาจแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ นอกจากนี้วิธีการเรียนรู้ การคงสมาธิ ปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างออกไป อาการของออทิสซึมเริ่มแสดงตั้งแต่วัยเด็กและแสดงอาการตลอดชีวิต ซึ่งอาการจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีอาการออทิสซึมอาจแสดงอาการเหล่านี้ เช่น
  • ไม่ชี้สิ่งของหรือไม่ชี้ชวน
  • ไม่มองตามเมื่อมีคนชี้ให้ดูสิ่งอื่นๆ
  • สร้างสัมพันธภาพได้ยากหรือไม่สนใจผู้อื่นเลย
  • เลี่ยงที่จะสบตาหรือต้องการอยู่คนเดียว
  • ยากที่จะทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นหรือบอกความรู้สึกของตนเอง
  • ไม่ชอบการอุ้มกอดหรือกอดเฉพาะเมื่อตนเองต้องการ
  • ไม่ค่อยตอบสนองเมื่อคนอื่นคุยด้วย
  • สนใจเสียงอื่นๆ มากกว่าเสียงคน
  • สนใจผู้คนแต่ไม่รู้วิธีที่จะคุย เล่น
  • พูดตามทันทีหรือจำคำพูด วลี ประโยค มาพูดแทนภาษาปกติ
  • ไม่เล่นบทบาทสมมุติ เช่น ป้อนอาหารตุ๊กตา หรือการเล่นสมมุติไม่ซับซ้อนเท่าพัฒนาการตามวัย
  • มีพฤติกรรมซ้ำๆ หรือหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง
  • ปรับตัวยากต่อการเปลี่ยนแปลง
  • มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกลิ่น รส เสียง สัมผัส
  • สูญเสียความสามารถ เช่น เคยพูดได้ ต่อมาพูดไม่ได้
การวินิจฉัยทำได้จากการสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการ แต่ไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจเลือดหรือวิธีการตรวจอย่างอื่น บางครั้งสามารถสังเกตอาการได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือน และเมื่ออายุ 2 ปี แพทย์ที่มีประสบการณ์สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุมากกว่านี้ แสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีอาการออทิสซึมไม่ได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ เท่าที่เด็กควรได้รับ
 
ออทิสซึมเป็นภาวะที่รักษาไม่หาย แต่การส่งเสริมพัฒนาการแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้พัฒนาการดีขึ้น การส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่เกิดถึง 1 ปี โดยส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน มีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการสื่อสาร

ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าลูกมีอาการออทิสซึมหรือปัญหาพัฒนาการอื่นควรปรึกษาแพทย์และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
 

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs