bih.button.backtotop.text

ตับแข็ง...ไม่ดื่มก็เป็นได้

เมื่อพูดถึงตับแข็ง หลายๆ คนคงเข้าใจว่าเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วมีหลายสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดตับแข็ง ซึ่งเมื่อเกิดตับแข็งแล้วจะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ อย่างไรก็ดีการรักษาแต่เนิ่นๆ ร่วมกับความร่วมมือในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยจะช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อตับถูกทำลายมากขึ้นได้

ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโปรตีน ฮอร์โมน และเม็ดเลือด เก็บสะสมสารอาหารต่างๆ ทำงานประสานร่วมกับอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ไต ตับอ่อน ถุงน้ำดี รวมถึงทำลายสารพิษทั้งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเองหรือจากที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย

ตับแข็ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นของโรคตับ ซึ่งทำให้เกิดการทำลายตับและการอักเสบ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆ จะทำให้เนื้อเยื่อที่ดีของตับถูกทำลาย เกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้นมาแทนที่ เนื้อตับจึงสูญเสียความยืดหยุ่นและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

การดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสาเหตุที่ทุกคนทราบดีว่าทำให้เกิดตับแข็งได้ แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุนี้เพียงสาเหตุเดียวเท่านั้น การเกิดตับแข็งยังมีสาเหตุอีกมากมาย อาทิ

การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ (เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี) การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา การติดเชื้อพยาธิ

  • การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การได้รับสารพิษที่มีผลต่อตับ
  • ตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเองที่ทำงานไม่ปกติ
  • ภาวะไขมันเกาะตับ

เมื่อสาเหตุเหล่านี้ก่อให้เกิดความผิดปกติในตับ ก็ส่งผลให้ตับทำงานได้ลดลง ผู้ที่มีภาวะตับแข็งจึงอาจมีอาการแสดงต่างๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด สับสน มึนงง รู้สึกความจำไม่ดี พูดอะไรก็จำไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมีอาการคันตามตัว รวมถึงมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองในช่วงระยะนี้ได้ด้วย

นอกจากนี้ ภาวะตับแข็งยังอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้ความดันในเส้นเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย ม้ามโต ขาบวม มีน้ำในช่องท้อง มีการเปลี่ยนแปลงตามผิวหนังคือมีจุดเล็กๆ แดงๆ เกิดขึ้น มีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นในช่องทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าเส้นเลือดเหล่านี้แตกก็อาจทำให้ถ่ายอุจจาระปนเลือดได้

สำหรับการรักษาตับแข็งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งกระบวนการอักเสบซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดพังผืดในตับ แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับของการทำลายเนื้อตับ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาตับแข็งนั้น แพทย์ไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทในการรักษาแต่เพียงผู้เดียว ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

สิ่งที่ผู้ป่วยภาวะตับแข็งควรปฏิบัติเพื่อลดการทำลายตับและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อตับ เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนักเพื่อป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ งดการรับประทานยาที่เป็นอันตรายต่อตับ เป็นต้น
  • ห้ามงดการรับประทานโปรตีนเพราะจะทำให้การเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอผิดปกติไป ควรรับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ถั่วเหลือง เป็นต้น
  • จำกัดการรับประทานเกลือและอาหารที่มีรสเค็ม เพราะจะทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น
  • ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูก เพราะจะทำให้สารพิษดูดซึมเข้าไปในร่างกายและเกิดการสะสมได้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาและสมุนไพรที่ส่งผลต่อตับ
  • คอยสังเกตอาการว่ามีอาการแย่ลงหรือไม่ ถ้าอาการแย่ลง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
  • พบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการเป็นระยะ

แม้ตับแข็งจะไม่สามารถทำให้ตับกลับมาเป็นปกติได้ แต่ก็ยังสามารถป้องกันที่ต้นเหตุและควบคุมดูแลอาการไม่ให้เป็นมากกว่าเดิมได้ การดูแลสุขภาพตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาวะโรคไม่ลุกลามไปกว่าเดิม
 

เรียบเรียงโดย พญ.อรพิน ธนพันธุ์พาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs