bih.button.backtotop.text

หลอดเลือดหัวใจ...หลอดเลือดชีวิต

“หัวใจ” อวัยวะสำคัญของร่างกาย หากเกิดความเสียหาย อาจอันตรายถึงชีวิต


จากสถิติพบว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ในแต่ละวันมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากถึง 236 คน หรือกว่า 85,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี และโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
 
ก่อนที่จะทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ควรทำความรู้จักกับหัวใจและความสำคัญของหัวใจ เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมเราจึงไม่อาจละเลยการดูแลอวัยวะชิ้นนี้ได้
 
หัวใจมีขนาดเท่ากำปั้นของเรา มีทั้งหมด 4 ห้อง ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายประมาณ 5 ลิตร/นาที โดยห้องซ้ายบนทำหน้าที่รับเลือดจากปอดและส่งมาห้องซ้ายล่างเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ส่วนห้องขวาบนรับเลือดจากร่างกาย และส่งไปห้องขวาล่างเพื่อไปฟอกเลือดที่ปอด
 
เพราะฉะนั้น หัวใจจึงเป็นเสมือนศูนย์กลางการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ถ้าหัวใจไม่แข็งแรง ส่วนอื่นก็จะอ่อนแอตามไปด้วย เนื่องจากอาจได้รับเลือดไม่เพียงพอ
 
แต่นอกจากหัวใจจะส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายแล้ว ตัวหัวใจเองก็ต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงด้วยเช่นกัน หัวใจจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงอยู่ 3 เส้น ด้านขวา 1 เส้นและด้านซ้าย 2 เส้น หลอดเลือดทั้งสามเส้นนี้จะทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทุกส่วน จึงมีความสำคัญมาก ถ้าหลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น ตีบ อุดตัน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนเลือด ส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ได้
 
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคของความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือด ซึ่งหากพอกหนาขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบ หากหลอดเลือดตีบถึงระดับหนึ่ง ไขมันอาจแตกและกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดมาอุดตัน เป็นสาเหตุของการเกิดหัวใจพิบัติ (heart attack)   
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ มีทั้งปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ อายุ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย เพศ โดยเพศชายจะพบบ่อยกว่าเพศหญิง และปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ความอ้วน เบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
 
สำหรับอาการผิดปกติของหัวใจ ที่น่าสนใจคือ โรคหัวใจบ่อยครั้งจะไม่มีอาการ (พบได้ 30-40%) ในรายที่มีอาการ อาจมีอาการไม่สุขสบายเหมือนมีของหนักมาทับ หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นๆ เหนื่อยๆ เจ็บเหมือนถูกบีบ บางครั้งอาการอาจปรากฎไปถึงต้นคอหรือหัวไหล่ หรือลงมาที่หน้าท้อง (ในบริเวณเหนือกว่าสะดือขึ้นไป) ส่วนอาการเจ็บหน้าอกจะพบในคนตะวันตกมากกว่า ในคนแถบเอเชียพบน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นอาการแน่นๆ เหนื่อยๆ มากกว่า
 
วิธีที่จะบอกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือ การสังเกตตัวเอง หากมีอาการเหนื่อยเร็วผิดปกติ เหนื่อยเร็วกว่าเดิมโดยหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เคยออกกำลังกาย เดินได้ 3 กิโลเมตร อยู่ๆ เดินได้แค่ 2 กิโลเมตรก็เหนื่อยแล้ว หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์
 
เมื่อมาพบแพทย์แล้ว สิ่งที่แพทย์จะทำคือตรวจร่างกาย ซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติไม่ได้หมายความว่าหัวใจจะปกติด้วย หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากแพทย์ยังสงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มโดยให้ผู้ป่วยเดินสายพาน หรือใช้วิธีอื่นๆ เช่น การใช้สารนิวเคลียร์ การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจสวนหัวใจ (การฉีดสี) ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
 
สำหรับการรักษา แพทย์จะทำการประเมินโดยพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย ถ้ามีอาการไม่มาก วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อให้คุมโรคได้ดี
 
แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นมาก แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือการผ่าตัดบายพาส (การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ) ซึ่งถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการหัวใจพิบัติ การรักษาจะต้องรีบเปิดหลอดเลือดหัวใจทันที แต่ถ้าอยู่ในสถานที่ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พร้อม ทางเลือกหนึ่งที่ใช้กันก็คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจเข้ารับการรักษา ยิ่งตัดสินใจเร็วเท่าไร ยิ่งช่วยหัวใจได้มากขึ้นเท่านั้น
 
ทราบถึงความสำคัญของหัวใจและอันตรายของโรคไปแล้ว อย่ารอช้า รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี โดยหลักสำคัญของการป้องกันหัวใจไม่ให้เกิดความผิดปกติ คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีเส้นใยสูง ไขมันต่ำ และออกกำลังกายเป็นประจำ 
 

เคล็ดลับที่ดีเพื่อสุขภาพหัวใจ

  • ดูแลตัวเองจากโรคที่เป็นภัยเงียบ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ในช่วง 1-2 เดือนแรก แนะนำให้เริ่มจากเดินครึ่งชั่วโมง เมื่อร่างกายเริ่มคุ้นกับการออกกำลังกายแล้ว อาจจะเดินหรือวิ่งให้มากขึ้นได้ การออกกำลังกายเป็นวิธีการเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดดี และลดไขมัน LDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดร้ายได้ดีที่สุด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยสูง ไขมันต่ำ
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ในคนที่สูบบุหรี่จะมีไขมัน HDL ต่ำลง พบว่าการหยุดสูบบุหรี่จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจลงครึ่งหนึ่งภายใน 1 ปี และเมื่อหยุดเกิน 5 ปี ถือว่าปัจจัยเสี่ยงกลับมาสู่ภาวะปกติ
  • มีงานวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยๆ ให้ผลดีกับหัวใจ เช่น ไวน์แดงไม่เกินวันละ 2 แก้ว
  • หากรักษาด้วยการใช้ยา ควรรับประทานยาต่อเนื่องและพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษาทุกครั้ง

 

เรียบเรียงจาก การเสวนาความรู้เพื่อสุขภาพ เรื่อง “หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดชีวิต” บรรยายโดย นายแพทย์สุเรส นารูลา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs