bih.button.backtotop.text

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่พบในสัตว์เป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โรคสามารถแพร่จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ไปสู่คนได้จากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสกัดหรือข่วน หลังได้รับเชื้อมักไม่ปรากฏอาการใดๆ โดยอาการมักเกิดหลังจากถูกกัดประมาณ 7 วันหรือเป็นเดือน ตัวอย่างอาการที่เกิด ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ หงุดหงิด กระวนกระวาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ในปี 2561 พบตัวอย่างส่งตรวจที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าถึงร้อยละ 15 ซึ่งพบในสุนัขมากที่สุด รองลงมาคือโคและแมวตามลำดับ
 

ท่านสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?

         การป้องกันตนเองที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดคือ การไม่ถูกสัตว์กัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ไม่รู้จัก นอกจากนี้ ท่านสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาล
 

เมื่อไหร่ที่ท่านควรรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามี 2 วัตถุประสงค์ คือ ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนการถูกสัตว์กัด และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

1.   ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (ยังไม่ได้สัมผัสสัตว์หรือถูกสัตว์กัด)
แนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ หรือผู้ที่จะเดินทางในพื้นที่ที่พบโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวนทั้งหมด 3 เข็ม ได้แก่
 
เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 เข็มที่ 3
วันที่ต้องการฉีด หลังจากเข็มแรก 7 วัน หลังจากเข็มแรก 21-28 วัน

สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนจนครบ 3 เข็ม ก่อนกำหนดการเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
 


2.   ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด
ท่านควรล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังถูกสัตว์กัดและรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการฉีดวัคซีน
  • กรณีที่ท่านไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 4 เข็ม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 3 เข็ม และพิจารณาการฉีดอิมมูโนโกลบูลินร่วมด้วย
วิธีการฉีด เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 เข็มที่ 3 เข็มที่ 4
ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วันแรกที่มาโรงพยาบาล หลังจากเข็มแรก 3 วัน หลังจากเข็มแรก 7 วัน หลังจากเข็มแรก 14-28 วัน
ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันแรกที่มาโรงพยาบาล หลังจากเข็มแรก 3 วัน หลังจากเข็มแรก 7 วัน -

นอกจากนี้แนวทางการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้ออาจพิจารณาให้จำนวน 5 เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 4 เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • กรณีที่ท่านเคยรับวัคซีนครบ 4 หรือ 5เข็มมาก่อน แล้วมาสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 เข็ม โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลินร่วมด้วย
 
 
เข็มที่ 1 เข็มที่ 2
วันแรกที่มาโรงพยาบาล หลังจากเข็มแรก 3 วัน

ทั้งนี้ควรมารับวัคซีนตรงตามกำหนดนัดตามสูตรการฉีดวัคซีน ในกรณีที่ไม่สามารถมาตามนัดแนะนำให้ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะคำของแพทย์  
 

อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) คืออะไร?

การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเป็นการให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลังโดนสัตว์กัด โดยอิมมูโนโกลบูลินสามารถทำลายเชื้อไวรัสบริเวณแผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีด หากแพทย์พิจารณาฉีดอิมมูโนโกลบูลินร่วมกับการให้วัคซีน จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลินโดยเร็วที่สุดและฉีดเพียงครั้งเดียว โดยฉีดบริเวณในและรอบบาดแผล ขนาดที่ให้ปรับตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย

อิมมูโนโกลบูลินที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด แตกต่างกัน คือ
  1. อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของมนุษย์ (Human rabies immunoglobulin: HRIG)
  2. อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของม้า (Equine rabies immunoglobulin: ERIG) ก่อนการพิจารณาให้อิมมูโนโกลบูลินชนิดนี้ ต้องทดสอบการแพ้ทางผิวหนังก่อนทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามตัว ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย
 

 อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีอะไรบ้าง?

            อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน พบในผู้ป่วยบางราย แบ่งตามอาการแสดงได้ดังนี้
 
ระดับความรุนแรง อาการแสดง
อาการไม่รุนแรงและพบได้บ่อย ปวด บวม คันบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ
อาการปานกลาง ลมพิษ ปวดข้อ มีไข้ (พบ 6% ในการฉีดเข็มกระตุ้น)
อาการรุนแรง พบได้น้อยมาก เช่น ไข้สูง หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด โดยเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่นาทีถึง 2-3 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน หากพบอาการเหล่านี้ควรแจ้งแพทย์หรือพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันที


หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง


Reference:
  • The Centers for Disease Control and Prevention. Rabies vaccine: What You Need to Know. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/rabies.html [Accessed 6 March 2019].
  •  World Health Organization (WHO). Rabies Vaccines and Immunoglobulins: WHO Position April 2018. Available from: https://www.who.int/immunization/policy/position_papers/pp_rabies_summary_2018.pdf?ua=1 [Accessed 6 March 2019].
  • พญ.พักต์เพ็ญ สิริคุตต์ (2018) โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย, Available at: http://www.pidst.or.th/A659.mobile (Accessed: 20 Mar 2019).
  • เพ็ญศิริ ดวงอุดม. กรมปศุสัตว์รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ณ วันที่ 6 มี.ค.62(178/2562)', ข่าวปศุสัตว์.
  • คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ.2561 และคำถามที่พบบ่อย. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. กันยายน 2561
 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs