bih.button.backtotop.text

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

โรคตับอักเสบบี เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus) ซึ่งสามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อ และน้ำคัดหลั่ง โดยติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน การเจาะหู และการติดเชื้อขณะคลอดจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก โดยในปัจจุบันวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อคือการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อผ่าน:
  • การสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวในร่างกาย เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการสัมผัสกับเลือดที่มีเชื้อ
  • การติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในระหว่างคลอด
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
  • ระยะเฉียบพลัน: ผู้ป่วยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 รวมถึงทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดามักไม่มีอาการป่วย แต่ในบางรายอาจมีอาการแสดงดังนี้ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ ปวดข้อ โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการภายใน 6 เดือนหลังได้รับเชื้อ โดยจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
  • ระยะเรื้อรัง: ผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกได้หมดจะทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีระยะเรื้อรังมักไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่หากปล่อยไว้อาจมีการดำเนินไปของโรคเป็นโรคตับที่รุนแรงได้ เช่น โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยในบางรายก็อาจยังไม่มีอาการแสดงของโรคอยู่ดี แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าค่าการทำงานของตับนั้นผิดปกติไป
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อป้องกันและตรวจหาการติดเชื้อในระยะเริ่มต้น


ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

เด็กและวัยรุ่น:
  • เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด และควรฉีดให้ครบภายใน 6-18 เดือน
  • เด็กหรือวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 19 ปี และยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีมาก่อน

ผู้ใหญ่: บุคคลดังต่อไปนี้ควรได้รับวัคซีน
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป
  • เป็นโรคตับหรือไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่กำลังล้างไต
  • ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • มีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ
  • บุคคลทั่วไปที่ต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
  • ติดเชื้อเอชไอวี
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีหน้าที่ต้องสัมผัสกับเลือดของผู้อื่น
  • มีประวัติฉีดยาเสพติดหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคตับอักเสบบีสูง

ใครไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี หรือควรชะลอไว้ก่อน

  • ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยีสต์ทำขนมปังหรือส่วนประกอบของวัคซีนไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
  • ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนโรคตับอักเสบบีหลังจากฉีดเข็มแรก เช่น มีอาการไข้สูง หายใจลำบาก ผื่นลมพิษ อ่อนเพลีย
    หัวใจเต้นเร็ว ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนตับอักเสบบีเข็มที่สอง
  • ผู้ที่มีอาการป่วยปานกลางหรือป่วยมากควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ในระยะเรื้อรังอาจต้องรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ การติดตามผลและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ
แก้ไขล่าสุด: 30 มิถุนายน 2568

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์วัคซีน

ดูเพิ่มเติม

คะแนนโหวต 8.65 of 10, จากจำนวนคนโหวต 545 คน

Related Health Blogs