การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องทางช่องท้องและ(หรือ)การผ่าตัดท่อนำไข่และ(หรือ)รังไข่
การผ่าตัดมดลูก คือ การผ่าตัดเอามดลูกออก บางรายการผ่าตัดมดลูกจะมีการผ่าตัดนำเอารังไข่ออกไปในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนทันทีและขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมด้วย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับฮอร์โมนเสริมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
เหตุผลของการผ่าตัดเอามดลูกออก
1. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ที่มีลักษณะเหมือนเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมดลูกมีการเจริญเติบโตในตำแหน่งต่างๆ นอกโพรงมดลูก ซึ่งมักพบเซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตอยู่ตามรังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือส่วนต่างๆ ของอวัยวะในช่องท้อง และจะทำหน้าที่เหมือนกับเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกที่มีการหนาตัวขึ้นและลอกหลุดเป็นเลือดตามรอบประจำเดือนในแต่ละเดือน
2. มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
มะเร็งรังไข่โดยปกติพบในสตรีสูงวัย จัดเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดเนื่องจากเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ร่วมกับอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน จนอาจทำให้วินิจฉัยผิดได้ ผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้ในระยะเริ่มแรก การรักษามะเร็งรังไข่คือการผ่าตัดเอารังไข่และท่อนำไข่ออกทั้งสองข้างรวมทั้งมดลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการรักษาด้วยการฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
3. เนื้องอกโพรงมดลูก (Adenomyosis)
ถ้าท่านประสบปัญหาของการมีประจำเดือนนานหลายวันร่วมกับปริมาณของเลือดประจำเดือนออกมาก หรือมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องร่วมกับอาการกดเจ็บในช่วงก่อนและระหว่างและหลังการมีประจำเดือน แพทย์มักสันนิษฐานเป็นเนื้องอกโพรงมดลูก อาการดังกล่าวมักพบในสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื้องอกมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกมีการเจริญเติบโตฝังตัวภายในผนังของมดลูก ทำให้มดลูกโตขึ้นและกดเจ็บ
4. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (Endometrial hyperplasia)
เป็นการเปลี่ยนแปลงผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุโพรงมดลูกชั้นใน พบบ่อยในวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนอันเนื่องมาจากร่างกายมีช่วงเวลาในการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนยาวนานกว่าปกติ แม้ว่าภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเป็นลักษณะของเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง แต่อาจมีการพัฒนาเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงได้
ในผู้หญิงบางรายที่มีประจำเดือนนานหลายวันร่วมกับปริมาณมาก แม้จะไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงภายในเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้าภาวะเลือดออกมากนั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยการขูดมดลูกและการรักษาด้วยฮอร์โมนแล้วแพทย์อาจแนะนำให้ตัดมดลูกทิ้ง
5. ภาวะมดลูกหย่อน (Prolapsed uterus and relate conditions)
ภาวะมดลูกหย่อนเกิดจากเอ็นที่ยึดมดลูกขาดความแข็งแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์หรือสูญเสียความยืดหยุ่นเนื่องจากอายุมากขึ้น ทำให้มดลูกหย่อนตัวลงมากจากตำแหน่งเดิมในอุ้งเชิงกรานและอาจเคลื่อนที่ลงมาตามตำแหน่งของช่องทางคลอดได้
ในทำนองเดียวกัน เนื้อเยื่อที่บุรอบๆ ผนังช่องคลอดซึ่งมีหน้าที่ช่วยพยุงลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและกระเพาะปัสสาวะให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเกิดการสูญเสียความยืดหยุ่นไม่สามารถพยุงอวัยวะดังกล่าวได้ จึงทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและกระเพาะปัสสาวะถูกดันให้โป่งออกใต้ผนังช่องคลอด ถ้าอวัยวะที่หย่อนตัวและถูกดันให้โป่งออกมาในช่องคลอดนั้นเป็นกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะเรียกภาวะนี้ว่า cystourethrocele และถ้ามีการยื่นโป่งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายลงสู่ผนังช่องคลอดด้านหลังจะเรียกภาวะผิดปกตินี้ว่า rectocele
ความผิดปกติในลักษณะดังกล่าวจะทำให้ท่านมีความรู้สึกไม่สุขสบายคล้ายกับมีบางสิ่งบางอย่างตุงๆ หรือใกล้จะหลุดออกจากร่างกาย ท่านอาจมีความรู้สึกหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยหรือปวดหลัง ถ้าอวัยวะที่เกี่ยวข้องดังกล่าวหย่อนลงมาจนปิดช่องคลอด สามีของท่านจะสังเกตและรู้สึกได้ขณะมีเพศสัมพันธ์กัน ในภาวะที่กระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะเคลื่อนต่ำลงจากตำแหน่งเดิม (cystourethrocele) ท่านจะรู้สึกคล้ายปวดปัสสาวะทั้งๆ ที่เพิ่งถ่ายปัสสาวะออกมา หรืออาจมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาขณะไอหรือมีกิจกรรมที่ต้องเกร็งหน้าท้อง และอาจมีโอกาสติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนภาวะที่มีการยื่นโป่งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายลงสู่ผนังช่องคลอดด้านหลัง (rectocele) อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกได้ เนื่องจากอุจจาระถูกอัดในช่องที่โป่งนั้น
Cystouretheocele และ rectocele สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเสริมความแข็งแรงให้กับผนังช่องคลอด ถ้าสภาวะผู้ป่วยสามารถผ่าตัดได้ อาจบรรเทาได้ด้วยการใส่อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนเรียกว่า pessary เพื่อช่วยพยุงอวัยวะภายในดังกล่าว อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยสุขสบาย
ภาวะมดลูกหย่อนสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอามดลูกออก พร้อมกับการทำผ่าตัดผนังช่องคลอดให้กระชับขึ้น มีหลายครั้งที่พบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะมดลูกหย่อนจะทำการตัดมดลูกออกไปถ้าไม่ประสงค์จะมีบุตรอีก
การปฏิบัติตัวในการเดินทางก่อนและหลังทำผ่าตัด :
- ผู้ป่วยควรอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 1-5 วันเพื่อได้มีการวางแผนขั้นตอนและได้รับการตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทำหัตถการ หลังทำผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการขับรถอย่างน้อย 1 เดือนหลังการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินหลังทำผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้ผ่าตัด
เงื่อนไข
- ผู้มีสิทธิใช้โปรแกรม คือ ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ โดยแพทย์ผู้ทําการรักษา เห็นสมควรให้ใช้โปรแกรมได้
- ผู้ที่ไม่สามารถใช้โปรแกรมได้ คือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง ผู้ป่วยที่มี ปัญหาทางการแพทย์หรือมีโรคประจําตัวเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น
- การทํางานของอวัยวะสําคัญล้มเหลว
- ปัญหาทางโรคเลือด