bih.button.backtotop.text

โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติกลุ่มอาการบิดหรือกระตุก

โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติกลุ่มอาการบิดหรือกระตุก จัดเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ตัวอย่างของโรคที่พบได้

โรคหน้ากระตุก
โรคหน้ากระตุกเป็นอาการกระตุกที่ไม่สม่ำเสมอของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าซึ่งเลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก คิ้ว หนังตา ข้างจมูก ข้างแก้ม คางและคอ โรคนี้พบมากในคนอายุ 50-60 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 
สาเหตุของโรคหน้ากระตุก
  • เส้นเลือดที่บริเวณก้านสมองไปกดทับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7
  • เนื้องอกหรือถุงน้ำกดทับเส้นประสาท
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น ทิกส์หรือการกระตุกของใบหน้าตามหลังกล้ามเนื้อหน้าอ่อนแรงแบบเบลล์
การรักษาโรคหน้ากระตุก
  • การรับประทานยา
  • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน พบว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมากได้ผลดี 75-100% ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยอาการจะเริ่มดีขึ้น 1-3 วันหลังฉีดยา แต่ในบางรายอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งการรักษามักได้ผลดีภายใน 2 สัปดาห์และคงอยู่ได้นาน 6-8 สัปดาห์ และผู้ป่วยมักต้องได้รับการฉีดยาซ้ำภายใน 3-6 เดือน
  • การผ่าตัดโดยวิธี microvascular decompression 
โรคตากะพริบเป็นอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาทั้ง 2 ข้าง (dystonia) ซึ่งบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดการกะพริบตาถี่ๆ หรือหนังตาปิดชั่วคราว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ลืมตาได้ลำบากและไม่สามารถมองเห็นได้ในขณะนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้โรคตากะพริบหรือตากระตุกมักพบได้บ่อยในคนอายุ 50-60 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

สาเหตุของโรคตากะพริบหรือตากระตุก
  • กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • กลุ่มที่มีสาเหตุร่วมด้วย โดยสาเหตุที่พบ ได้แก่
    • ความผิดปกติของก้านสมองจากโรคหลอดเลือดสมองหรือการอักเสบ
    • โรคทางพันธุกรรม
    • โรคทางระบบเมตาบอลิสม
    • โรคความเสื่อมของสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน
การรักษาโรคตากะพริบหรือตากระตุก
  • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน โดยฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อรอบตา จะช่วยให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้อาการตากระตุกดีขึ้น 72-93% โดยทั่วไปยามักออกฤทธิ์ประมาณ 3-4 วันหลังฉีดและมีผลอยู่ได้นาน 3-4 เดือน
โรคคอบิดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อคอและหัวไหล่ซึ่งมีผลทำให้เกิดการบิดหรือผิดรูปของคอ ในบางครั้งอาจพบมีการสั่นของศีรษะร่วมด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยประมาณ 75% มักมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอ 

สาเหตุของโรคคอบิด
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • การใช้ยาบางประเภท
  • สภาวะแวดล้อม

การรักษาโรคคอบิด
  • การรับประทานยา
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน จัดเป็นการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาชนิดอื่นและมีผลข้างเคียงน้อย โดยทั่วไประยะเวลาที่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ระหว่าง 4-5 เดือน จากการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ 70-90% อย่างไรก็ดี ถ้ากล้ามเนื้อมีการหดรั้งอย่างมากจนเกิดการยึดติดอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
  • การผ่าตัด

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

คลินิกโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.92 of 10, จากจำนวนคนโหวต 50 คน

Related Health Blogs