bih.button.backtotop.text

โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ คือภาวะที่มีการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าหรือ plantar fascia ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บส้นเท้าที่พบบ่อยที่สุด โดยมากมักเกิดการอักเสบบริเวณที่พังผืดยึดเกาะกับกระดูกส้นเท้า ลักษณะสำคัญของภาวะนี้คือมีอาการปวดที่ส้นเท้าหรือฝ่าเท้า โดยจะปวดมากที่สุดเมื่อลงจากเตียงในตอนเช้าหรือหลังจากนั่งนานๆและอาการทุเลาลงเมื่อเดินไปสักพักหรือหลังทำการยืดเหยียดฝ่าเท้า โดยทั่วไปรองช้ำเป็นโรคที่สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาใดใด แต่การได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้หายได้เร็วขึ้นและการดูแลฝ่าเท้าอย่างถูกวิธีจะทำให้อัตราการกลับเป็นซ้ำน้อยลง
สาเหตุของโรครองช้ำเกิดจากความเสื่อมสภาพของพังผืดใต้ฝ่าเท้า การใช้งานที่มากเกินไป หรือการบาดเจ็บของพังผืดใต้ฝ่าเท้า โดยมากมักพบภาวะนี้ในกลุ่มวัยกลางคน โดยเฉพาะนักวิ่งหรือผู้ที่ต้องเดินมาก ผู้ที่ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือพื้นบางเป็นประจำ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและผู้ที่มีโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูงหรืออุ้งเท้าแบน ผู้ที่มีเอ็นร้อยหวายตึง เป็นต้น

อาการของโรครองช้ำคือ เจ็บที่ส้นเท้าหรือฝ่าเท้าเวลาเดินลงน้ำหนัก ลักษณะอาการเจ็บเป็นแบบเจ็บแปล๊บหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มที่ส้นเท้า มักมีอาการเมื่อเริ่มยืนหรือเดินหลังจากไม่ได้ลงน้ำหนักเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อลงจากเตียงในตอนเช้าหรือหลังจากนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักจะทุเลาปวดได้เองเมื่อใช้งานหรือเดินไปสักพัก โดยอาการมักจะเป็นๆหายๆ ตามการใช้งานและความเสื่อมสภาพของพังผืดฝ่าเท้า ในระยะต่อมาอาจมีอาการมากขึ้นและปวดไม่ทุเลาลงแม้ใช้งานไปสักพัก อาการเหล่านี้อาจเป็นเรื้อรังหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอันที่จริงโรคนี้อาจหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่อาจใช้เวลานานถึง 6-12 เดือน การได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ระยะเวลาดำเนินโรคสั้นลง หายได้เร็วขึ้นและยังป้องกันมิให้เป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการในเบื้องต้นอาจดูแลตนเองด้วยการพักการเดินหรือวิ่ง การปรับรองเท้าให้เหมาะสมและการบริหารยืดเหยียดฝ่าเท้า และหากอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรังควรมาพบแพทย์

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ จะได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการปวดส้นเท้านี้ นอกจากโรครองช้ำแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ เช่น เส้นประสาทฝ่าเท้าถูกกดทับ กระดูกส้นเท้าฟกช้ำหรือหักล้า เป็นต้น และอาจมีการตรวจเอกซเรย์ร่วมด้วยเพื่อตรวจหากระดูกงอกที่ส้นเท้าหรือความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกเท้า หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อวินิจฉัยความเสื่อมสภาพ การอักเสบ หรือการฉีกขาดของพังผืดใต้ฝ่าเท้า

สำหรับการรักษาโรครองช้ำนั้น โดยทั่วไปมักเริ่มจากการพัก คือลดการเดินหรืองดวิ่ง เพื่อลดการบาดเจ็บ ลดการอักเสบและเปิดโอกาสให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าได้ฟื้นฟูตนเอง โดยหากมีการอักเสบมากอาจพิจารณาใส่เฝือกพยุงชั่วคราวเพื่อลดการเคลื่อนไหวและการอักเสบ จนอาการปวดทุเลาลงจึงถอดเฝือกพยุงหรือปรับมาใส่เฉพาะในเวลากลางคืน ทั้งนี้ในช่วงที่มีการอักเสบอาจประคบเย็นและรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งควรพิจารณาสั่งยาโดยแพทย์และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

การปฎิบัติตัวอื่นๆที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรครองช้ำ ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน เพื่อลดแรงที่กระทำต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้า การปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมในช่วงที่มีการอักเสบ เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โดยเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระแทกที่ส้นเท้าและฝ่าเท้า การเลือกรองเท้าให้เหมาะสมโดยเลือกรองเท้าที่พื้นหนาและรองรับแรงกระแทกได้ดี พื้นรองในรองเท้ามีความโค้งรับพอดีกับอุ้งเท้า หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าและการใส่รองเท้าพื้นแข็ง

การบริหารโดยการยืดเหยียดฝ่าเท้าและการยืดเอ็นร้อยหวาย จะช่วยให้ภาวะนี้หายได้เร็วขึ้นและป้องกันการเกิดเป็นซ้ำได้ดี ทั้งนี้แนะนำให้ทำในเวลาเช้า โดยเฉพาะตอนตื่นนอน การบริหารสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

การนั่งไขว่ห้างยกเท้าข้างที่มีอาการพาดบนเข่าอีกข้างหนึ่งดังภาพที่1 ใช้มือหนึ่งกระดกนิ้วหัวแม่เท้าเพื่อยืดเหยียดพังผืดใต้ฝ่าเท้าให้ตึงตัวและใช้หัวแม่มืออีกข้างหนึ่งนวดคลึงเบาๆที่พังผืดใต้ฝ่าเท้าที่สัมผัสได้ โดยเริ่มตั้งแต่จุดเกาะที่กระดูกส้นเท้าไปตามแนวตึงใต้ฝ่าเท้า เรื่อยไปจนถึงหน้าเท้า ทำย้อนกลับไปมาเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที
 

ภาวะนวหวแมเทาเอยง_01-04.jpg ภาวะนวหวแมเทาเอยง_01-01.jpg ภาวะนวหวแมเทาเอยง_01-02.jpg ภาวะนวหวแมเทาเอยง_01-03.jpg


การนั่งเหยียดขาสองข้าง เหยียดเข่าตึงและใช้ผ้าพาดบริเวณฝ่าเท้าดังภาพที่2 โดยมือจับที่ปลายผ้าทั้งสองไว้แล้วออกแรงดึงผ้าให้ฝ่าเท้ากระดกขึ้นสุด เพื่อยืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย ดึงค้างไว้ 30 วินาทีและทำซ้ำ 10-20 ครั้ง
 

ภาวะนวหวแมเทาเอยง_05.png ภาวะนวหวแมเทาเอยง_06.png


การดันผนังเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย สามารถทำได้โดยการยืนหันหน้าเข้าผนังและก้าวขาที่ต้องการยืดไปด้านหลังแล้วย่อตัวดังภาพที่3 โดยให้เข่าของขาด้านหลังเหยียดตึงและส้นเท้าชิดแนบสนิทไปกับพื้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกตึงที่น่อง ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาทีและทำซ้ำ 10-20ครั้ง

ภาวะนวหวแมเทาเอยง_07.png ภาวะนวหวแมเทาเอยง_08.png


การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy หรือ ESWT) เป็นการส่งผ่านคลื่นกระแทกที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปยังเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บ ซึ่งในกรณีนี้คือพังผืดใต้ฝ่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอักเสบใหม่เล็กน้อย เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น และเกิดกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อใหม่ขึ้น ทำให้คุณภาพของพังผืดใต้ฝ่าเท้าที่เสื่อมสภาพนั้นดีขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นการหลั่งสารลดปวดทำให้อาการปวดทุเลาด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้คลื่นกระแทกอาจทำให้รู้สึกเจ็บและระบมเล็กน้อยตรงบริเวณที่ทำซึ่งจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันและสามารถรับประทานยาแก้ปวด paracetamol เพื่อบรรเทาอาการได้ โดยทั่วไปจะทำสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ เพื่อให้กระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อใหม่เกิดได้อย่างต่อเนื่อง

การใช้แผ่นรองในรองเท้า (Insole) ที่เหมาะสมพอดีกับรูปร่างเท้าของผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูงหรืออุ้งเท้าแบน จะช่วยกระจายน้ำหนักไปทั่วฝ่าเท้าและลดแรงกดที่จุดอักเสบบริเวณส้นเท้า ทำให้ลดอาการปวดในขณะยืนหรือเดินได้ดี ทั้งนี้แผ่นรองในรองเท้ามีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งตัดเฉพาะรายซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งตัดเป็นรายๆไปตามโครงสร้างของเท้าผู้ป่วย นอกจากนี้ในช่วงที่มีการอักเสบสามารถใช้แผ่นรองส้นเท้า (Heel cup) เพื่อลดแรงกระแทกที่ส้นเท้าเวลาเดินและบรรเทาอาการปวดได้

การใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าในเวลานอน เพื่อลดการหดตัวของพังผืดใต้ฝ่าเท้าซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน เช่น ในขณะนอนตอนกลางคืน โดยเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าและก้าวเท้าลงจากเตียง พังผืดใต้ฝ่าเท้าจะถูกยืดออกอย่างเฉียบพลันและเกิดอาการปวดส้นเท้าในตอนเช้า อุปกรณ์นี้จะช่วยให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกเหยียดยืดตลอดเวลาในตอนกลางคืนและลดอาการปวดในตอนเช้าได้

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณส้นเท้า ทำให้ลดการอักเสบและหายปวดได้อย่างรวดเร็วแต่อาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น พังผืดใต้ฝ่าเท้าบริเวณที่ฉีดมีการเปื่อยยุ่ยและฉีกขาด หรือแผ่นไขมันใต้ฝ่าเท้าบริเวณที่ฉีดมีการยุบฝ่อและบางลง ทำให้มีอาการปวดเรื้อรังเวลาเดินลงส้น เป็นต้น ซึ่งการรักษาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีความยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์ในโรครองช้ำ ยกเว้นในกรณีที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้การฉีดยาต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอาจใช้เครื่องอัลตราซาวน์ช่วยนำทางเพื่อให้ฉีดได้ตรงจุดและลดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การผ่าตัดรักษา ทำในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆอย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผลซึ่งพบได้น้อย โดยจะทำการตัดพังผืดฝ่าเท้าด้านในเป็นบางส่วน (Plantar fasciotomy) เพื่อลดแรงตึงที่กระทำต่อจุดเกาะบริเวณส้นเท้าและอาจทำการตัดกระดูกส่วนเกินออกในกรณีที่มีกระดูกงอกที่ส้นเท้า อีกทั้งอาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อแก้ไขโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติและมีผลทำให้เกิดโรครองช้ำ เช่น อุ้งเท้าสูง เป็นต้น

เรียบเรียงโดย น.ต.นพ. ปองพล เพ็ชร์คำ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs