bih.button.backtotop.text

เมื่อลูกเป็นสาวก่อนวัย

ในปัจจุบันภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยของเด็กดีขึ้นกว่าในอดีต เด็กจึงมีแนวโน้มเป็นสาวเร็วขึ้น คุณพ่อคุณแม่มักมีคำถาม เช่น “ลูกจะเตี้ยหรือไม่ถ้าเป็นสาวเร็วเกินไป” หรือ “มีประจำเดือนแล้วจะหยุดสูงหรือไม่” บทความนี้หมอได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยๆ มาฝากกันค่ะ 

 

Q: เป็นสาวก่อนวัยหมายความว่าอย่างไร

A: ภาวะเป็นสาวก่อนวัย (precocious puberty) หมายถึง การที่เด็กผู้หญิงมีพัฒนาการทางเพศก่อนวัยอันควร คือ มีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 8 ขวบ หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ขวบ 

 

Q: สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นสาวก่อนวัย

A: เด็กผู้หญิงจะเริ่มมีการขยายของหัวนมโดยมีลักษณะเหมือนเป็นก้อนเนื้อขนาด 1-2 เซนติเมตรใต้ลานหัวนม ร่วมกับช่วงนี้จะรับประทานเก่งขึ้น โตเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

 

Q: เป็นสาวก่อนวัยมีสาเหตุจากอะไร

A: ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ตรวจพบแต่เพียงมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองก่อนวัยอันควร นอกจากนี้อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ถ้าพ่อแม่มีประวัติเข้าวัยหนุ่มสาวเร็ว ลูกก็จะเป็นหนุ่มสาวเร็วด้วย เป็นต้น
 

 

Q: กลไกการเข้าสู่วัยสาวเป็นอย่างไร

A: อวัยวะสำคัญที่ควบคุมการเข้าสู่วัยสาว ได้แก่ ต่อมใต้สมองและรังไข่ โดยต่อมใต้สมองทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน gonadotropins ภายใต้การควบคุมจากสารชีวเคมีต่างๆ ในสมอง ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีปัจจัยใดที่เป็นตัวกระตุ้นสารชีวเคมีต่างๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ฮอร์โมน gonadotropins จากต่อมใต้สมองนี้จะมากระตุ้นรังไข่ในเด็กผู้หญิงให้ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง “เอสโตรเจน”
 
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าปัจจัยใดเป็นตัวควบคุมการเข้าสู่ความเป็นสาวหรือกระตุ้นให้เกิดการเริ่มสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายๆ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก หรือภาวะโภชนาการ ซึ่งจะพบว่าเด็กที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักเข้าสู่การเป็นสาวเร็ว ส่วนเด็กที่ผอมหรืออ้วนมากมักเข้าสู่การเป็นสาวช้ากว่าปกติ 
 

 

Q: เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างไร

A: โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุ 8-13 ปี การเปลี่ยนแปลงอันดับแรกสุดคือการมีหน้าอก เด็กผู้หญิงมักมีประจำเดือนภายในระยะเวลา 1½-2 ปีหลังจากมีหน้าอก ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีแรกของการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากร่างกายกำลังอยู่ในระยะปรับตัว อายุเฉลี่ยของเด็กหญิงไทยที่มีประจำเดือนครั้งแรก คือ อายุประมาณ 12-13 ปี
 

 

Q: ผลเสียของการเป็นสาวก่อนวัยมีอะไรบ้าง

A: ผลเสียของการเป็นสาวก่อนวัยจะเป็นผลโดยตรงจากฮอร์โมนเพศหญิง ที่สำคัญมี 2 ประการ ได้แก่
  • เตี้ยกว่าปกติเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้เด็กโตเร็ว เด็กจะสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่ก็เป็นผลทำให้กระดูกปิดเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ระยะเวลาการเจริญเติบโตจึงสั้นกว่าคนทั่วไป เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่จึงเตี้ยกว่าปกติ
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กสาวที่เป็นสาวก่อนวัยจะมีร่างกายเหมือนเด็กสาววัยรุ่น แต่จิตใจยังเป็นเด็ก บางรายอาจรู้สึกอายเพื่อนเพราะมีเต้านมโต ในขณะที่เพื่อนๆ ยังไม่มีเต้านม บางรายอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศและเกิดการตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยเด็กได้
 

 

Q: วิธีการรักษาเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยทำได้อย่างไร

A: การรักษาจะเริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ โดยซักประวัติการรับประทานยาชนิดต่างๆ หรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อนฮอร์โมนเพศหญิง ร่วมกับการตรวจดูประวัติการเจริญเติบโตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่าโตเร็วขึ้นกว่าปกติหรือไม่ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเอกซเรย์เพื่อประเมินการเจริญเติบโต ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์รังไข่หรือตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) หากพบว่ามีสาเหตุจากเนื้องอกที่รังไข่หรือในสมองอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด (ในบางกรณี) ถ้าตรวจไม่พบสาเหตุแต่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสูง อาจให้การรักษาเพื่อชะลอการเข้าสู่วัยรุ่นโดยการใช้ยาฉีดซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชื่อ GnRH analogue ยานี้เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ต้องฉีดทุก 4 สัปดาห์ และควรฉีดติดต่อกันไปจนเด็กอายุประมาณ 12-14 ปี
 

 

Q: จุดประสงค์ในการรักษาภาวะเป็นสาวก่อนวัยคืออะไร

A: การรักษาภาวะเป็นสาวก่อนวัยมีจุดประสงค์เพื่อ 
  • ยับยั้งหรือชะลอไม่ให้อายุกระดูกล้ำหน้าไปกว่าอายุจริงมาก เพื่อหวังผลให้ผู้ป่วยมีความสูงสุดท้ายตอนเป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น
  • ลดปัญหาทางด้านจิตใจและพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพร่างกายเป็นสาวเร็วเกินไป

 

Q: มีประจำเดือนแล้วจะสูงอีกหรือไม่

A: หลังจากเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกแล้วความสูงจะค่อยๆ ช้าลงและหยุดสูงใน 2-3 ปี โดยความสูงที่เพิ่มขึ้นหลังมีประจำเดือนครั้งแรกจะประมาณ 5-7 เซนติเมตรก่อนหยุดสูงหรือหยุดโตเมื่อมีประจำเดือนสม่ำเสมอมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
 
เรียบเรียงโดย พญ.ปวินทรา หะริณสุต กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญเติบโต ต่อมไร้ท่อ และเบาหวานในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs