bih.button.backtotop.text

ออกกำลังกายแม้เพียงน้อยนิดก็ดีมากพอสำหรับหัวใจ

26 มกราคม 2555

การได้มาซึ่งสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องฝังตัวอยู่ในสถานออกกำลังกายทั้งวัน เพราะนักวิจัยพบว่าการออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการเดินย่อยหลังอาหารเย็น

การได้มาซึ่งสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องฝังตัวอยู่ในสถานออกกำลังกายทั้งวัน เพราะนักวิจัยพบว่าการออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการเดินย่อยหลังอาหารเย็น ใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟต์ ปลูกต้นไม้ดอกไม้ หรือแม้แต่เล่นกับลูก ๆ หลาน ๆ ก็เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างได้ผล 
  
การค้นพบครั้งนี้เป็นผลงานของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Circulation โดยมีเนื้อหาระบุว่าการออกกำลังกาย เพียงสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ราวร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ขณะที่การออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมงสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคได้มากถึงร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยว่าแล้วก็ลุกจากเก้าอี้ แล้วไปออกกำลังกายกันเถอะ


รักษ์หัวใจ ต้องไม่หักโหมงานหนัก


เชื่อหรือไม่ ว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานนั้นสามารถทำลายสุขภาพของคุณได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการวิจัยของนักวิจัยชาวอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine โดยระบุว่าผู้ที่ทำงานต่อเนื่องกันเกินกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าผู้ที่ทำงาน 7 - 8 ชั่วโมงต่อวัน
 
การวิจัยที่กินเวลายาวนานถึง 12 ปีชิ้นนี้ เป็นการติดตามหญิงและชายวัยกลางคนจำนวนกว่า 7,000 คนที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยร้อยละ 10 ของทั้งหมดมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานกว่าคนอื่น ๆ และผลก็คือผู้ที่ทำงานอย่างต่ำ 11 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตจากโรคมากกว่าผู้ที่ใช้เวลาทำงาน น้อยกว่า
 
แม้จำเป็นจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุความสัมพันธ์ที่แน่ชัดระหว่าง ชั่วโมงการทำงานกับโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ แต่ทีมงานก็ได้เน้นให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดเรื้อรังที่ เกี่ยวเนื่องกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเผาผลาญอาหาร ภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ 


อาหารต้านความดัน

สำหรับคุณที่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูง การค้นพบล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะการลดปริมาณของคาร์โบไฮเดรตลงหรือนมไขมันต่ำจะช่วยให้ความดันโลหิต ลดลงและมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้จริง
 
ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างโรคหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เคยมีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้จากนมไขมันต่ำกับความดันโลหิตที่ลดลง แต่การศึกษาครั้งล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูเลน ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องถือเป็นครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์เจาะจงถึงผลของ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนจากพืช และโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีต่อความดันโลหิต
 
การศึกษาทำโดยให้กลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่มีประวัติของโรคความดันโลหิตสูงหรือ มีอาการไม่มากนักรับประทาน ชุดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำจากโปรตีนถั่วเหลือง โปรตีนจากนมไขมันต่ำ และคาร์โบไฮเดรตไปพร้อม ๆ กับการวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ ตลอดเวลาที่ทำการศึกษา ผลก็คือ กลุ่มที่รับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำมีความดันโลหิต ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นคือร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานแต่คาร์โบไฮเดรต ซึ่งหมายถึงอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลวจะลดลงราวร้อยละ 4 และร้อยละ 6 สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบ

   
รู้อย่างนี้แล้ว เปลี่ยนใจจากน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูงมาเป็นนมถั่วเหลืองหรือนมไขมันต่ำกันดีกว่า

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs