bih.button.backtotop.text

ท้องผูกในเด็ก

03 พฤศจิกายน 2557
ท้องผูกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้มาก แม้จะดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ลูกมีอาการท้องผูกนานๆ โดยไม่ทำการรักษา ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

ท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เป็นเพียงอาการหนึ่งซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ พบว่า 95% ของอาการท้องผูกในเด็กเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและนิสัยในการขับถ่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีอาหารฟาสต์ฟู้ดมากมาย ทำให้เด็กรับประทานผักและผลไม้น้อยลง ร่วมกับดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายแล้วเจ็บ เมื่อเจ็บก็ทำให้เด็กกลัวการขับถ่าย จึงกลั้นอุจจาระ ซึ่งถ้ากลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย อุจจาระอยู่ในร่างกายนานๆ ก็จะแข็งขึ้น ก้อนใหญ่ขึ้น จึงเกิดอาการท้องผูกตามมาในที่สุด
 
เด็กที่มีอาการท้องผูกมักมีอาการปวดท้องเป็นอาการนำ ซึ่งถ้าเป็นมากๆ ก็อาจทำให้มีอาการปวดท้องเหมือนเป็นโรคอื่นได้ เช่น เด็กบางรายที่มีอาการท้องผูกมากๆ อาจมีอาการปวดท้องมากจนเดินตัวงอเหมือนเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ดังนั้นเมื่อลูกบอกว่าปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีอาการอื่น เช่น มีไข้ ซึ่งแสดงถึงภาวะติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วอาการปวดท้องจากท้องผูกมักไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เมื่อได้ถ่ายก็จะหายปวดได้เอง
 
สำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูกมากๆ มาเป็นเวลานานและปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดผลต่อสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ได้ คือ
  • ผลต่อพัฒนาการของร่างกาย เมื่อเด็กท้องผูกมากจะรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ อาจส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็ก และขาดสารอาหารได้
  • ผลทางด้านจิตใจและอารมณ์ ในเด็กบางรายที่ท้องผูกมานาน อาจมีอุจจาระเล็ดออกมาภายนอก ทำให้เปื้อนติดกางเกงและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกอายเพื่อนและรู้สึกมีปมด้อย หรือในกรณีของเด็กบางรายที่มีอาการปวดท้องแต่ไม่สามารถอธิบายอาการที่เป็นได้และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เข้าใจ ก็อาจทำให้เด็กเกิดปัญหาทางอารมณ์ กลายเป็นเด็กหงุดหงิด ก้าวร้าวได้
 
ดังนั้น หากเด็กมีอาการท้องผูกมานานหรือปวดท้องไม่หาย คุณพ่อคุณแม่ควรพามาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติการรับประทานอาหาร ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องทำการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ร่วมด้วย เมื่อวินิจฉัยได้แน่ชัดแล้วว่าเป็นท้องผูก ก็อาจทำการสวนอุจจาระและแนะนำการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงจนถึงจุดที่การปรับเปลี่ยนอาหารไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ แพทย์อาจต้องให้ยาเพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลง ซึ่งจะช่วยให้เด็กไม่มีความเจ็บปวดเวลาถ่าย หายกลัว และสามารถถ่ายแบบธรรมชาติได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยลดยาลง ทั้งนี้การรับประทานยาจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการรับประทานอาหารและการฝึกขับถ่ายให้ตรงเวลาด้วย
 
อย่างไรก็ดี การป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูกก็ยังคงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด สามารถเริ่มได้จากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็ก คือ ในช่วงอายุก่อน 1 ขวบ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้
  • เสริมผักและผลไม้ให้กับลูก ด้วยการทำซุปผักและน้ำผลไม้ให้ลูกรับประทาน ซึ่งจะช่วยให้ลูกขับถ่ายง่าย และยังเป็นผลดีให้การฝึกขับถ่ายทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกให้ลูกได้ชิมรสชาติและคุ้นเคยกับกลิ่นรสของผักและผลไม้ ไม่ต่อต้านการรับประทานอาหารเหล่านี้เมื่อโตขึ้น
  • ฝึกการขับถ่ายของลูกให้เป็นเวลา โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในช่วง 2 ขวบปีแรก แต่การฝึกควรทำเมื่อลูกพร้อม ให้ลองสังเกตว่าลูกมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายหรือไม่ เช่น อุจจาระแข็ง ชอบกลั้นอุจจาระ ชอบหนีไปซ่อนหรือร้องไห้ หากมีปัญหาเหล่านี้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนอาหารที่ให้ลูกรับประทานก่อน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อุจจาระแข็ง เช่น ข้าวกล้อง กล้วย ช็อกโกแลต ชีส เมื่อลูกถ่ายได้ดีแล้วและไม่ต่อต้าน จึงค่อยเริ่มฝึกการขับถ่ายให้กับลูกต่อไป
 
เรียบเรียงโดย นพ.มิ่งเมือง วรวัฒนะกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs