bih.button.backtotop.text

โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร


โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานซึ่งมักใช้ชีวิตเร่งรีบ ขาดการออกกำลังกายและมีภาวะเครียดสูง โรคความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่ด้วยวิทยาการการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้แพทย์มีเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น มีเนื้องอก มีการอักเสบ มีแผล หรือเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของทางเดินอาหาร หรือเรียกกันว่า Functional GI Disorders


Functional GI Disorders เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองและทางเดินอาหาร (Disorders of gut-brain interaction) ซึ่งแบ่งตามกลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนต่างๆ สาเหตุของความผิดปกติอาจเกิดได้จาก

  • การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ (Motility Disorder)
  • อวัยวะในช่องท้องรับความรู้สึกไวเกินไป (Visceral Hypersensitivity)
  • การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุลำไส้และการตอบสนองของภูมิต้านทานของลำไส้ผิดปกติ (Altered Mucosal and Immune Function)
  • การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Altered Gut Microbiota)
  • การเปลี่ยนแปลงของการรับรู้และการแปรผลของระบบประสาทส่วนกลาง (Altered Central Nervous System (CNS) Processing)


กลุ่มอาการเหล่านี้อาจเกิดได้จากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ส่วนต่างๆได้ทุกส่วนรวมถึงถุงน้ำดี อาทิเช่น โรคกรดไหลย้อน โรคหลอดอาหารอะคาเลเซีย ภาวะการกลืนผิดปกติ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า ปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูกเรื้อรัง

 

อาการของ โรค

อาการที่มักพบได้บ่อย เช่น การปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการแสบร้อนที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ ขย้อนอาหาร แน่นหรือเจ็บหน้าอกหรืออาจมีอาการไอเรื้อรัง หอบหืดเรื้อรัง ร่วมด้วย ท้องอืด กลืนอาหารจุกที่คอ ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย

 

สาเหตุของการเกิดโรค

สาเหตุของการเกิดโรคเหล่านี้ยังไม่ทราบแน่ชัด มักมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจ เช่น ความเครียด หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดการออกกำลัง กินอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป กินอาหารไม่เป็นเวลา การใช้ชีวิตที่เร่งรีบเกินไป

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคเหล่านี้มักต้องอาศัยทีมงานอันประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาและพยาบาลที่มีความรู้เกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมีแต่อาการเท่านั้นแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน นอกจากนี้อาการของโรคยังคาบเกี่ยวกัน เช่น ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการท้องอืด หรือท้องผูกร่วมด้วย ทำให้วินิจฉัยได้ยาก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยอาศัยเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลเรียกว่า Rome criteria และแพทย์จะปรึกษาร่วมกันเพื่อตัดสินใจว่าจะใช้เครื่องมือใดในการวินิจฉัยร่วมด้วย

 

เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนบน

  • การส่องกล้องในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เพื่อหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนต่างๆ อาทิเช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือเนื้องอกต่างๆเป็นต้น เป็นวิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นอย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะพ่นชาเข้าไปในช่องปากและลำคอ ต่อจากนั้นจะทำการให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยหลับระหว่างการตรวจและ ใส่กล้องตรวจเข้าไปเพื่อตรวจหลอดอหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ใช้เวลาประมาณ 10 -15 นาทีเท่านั้น โดยผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะการตรวจได้ผลการตรวจที่แม่นยำและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้น้อย
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องเสียถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ผอมยาวและยืดหยุ่นได้ มีกล้องบันทึกภาพเพื่อให้เห็นถึงความผิดปกติภายในได้ชัดเจน และแพทย์สามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจได้
  • ตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความละเอียดสูง ( High Resolution E sophageal Manometry and Impedance) สามารถดูการบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของหูรูดทั้งข้างบนและข้างล่าง การคลายตัว การปิดเปิด ตำแหน่งและความดันของหูรูด ในผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบาก เจ็บหน้าอก หรือสงสัยว่าเป็นโรคของการทำงานของหลอดอาหารที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะใส่ยาชาเข้าไปทางช่องจมูก ให้คนไข้กลืนสายลงไปในหลอดอาหารและให้ดื่มน้ำ เพื่อตรวจการทำงานของหลอดอาหารและการทำงานของหูรูด เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้นและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใดๆ
  • การตรวจวัดค่าความเป็นกรด - ด่างในหลอดอาหาร (pH Monitoring) เป็นการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง 24 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมง มักใช้หลังจากตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้นแล้ว เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนหรือไม่ ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
    • การใช้สายวัดใส่ทางจมูกลงในหลอดอาหารทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง (24hr pH Impedance monitoring) และจึงนำมาวิเคราะห์ผลด้วยคอมพิวเตอร์ หลังใส่สายผู้ป่วยสามารถทานอาหารและทำกิจกรรมได้ตามปกติ
    • การใช้ตัววัดเป็นแคบซูล (Bravo pH capsule) โดยการส่องกล้องและใส่แคบซูลเพื่อไปติดที่ผนังหลอดอาหาร แคบซูลจะส่งสัญญาณเป็นคลื่นวิทยุแสดงผลการติดตามวัดค่าความเป็นกรดไปยังเครื่องรับที่อยู่ภายนอกร่างกายผู้ป่วย การใช้วิธีนี้ผู้ป่วยจะสบายตัวกว่าเพราะไม่มีสายติดตัว สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องนอนโรงพยาบาล 48 ชั่วโมง
  • การตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (Long GI Study / GI Follow Through) เป็นการตรวจทางรังสีจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ภายหลังจากการดื่มสารทึบแสง (แป้งแบเรียม)เพื่อถายให้เห็นส่วนต่างๆของทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก สามารถดูเวลาที่แป้งแบเรียมใช้เวลาในการผ่านตามส่วนต่างๆของลำไส้ได้
  • Gastric and Small Bowel Emptying Time เป็นการศึกษาเพื่อใช้ดูการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยดูจากระยะเวลาที่ใช้ในการที่อาหารผ่านจากกระเพาะลงไปในลำไส้เล็กจนมาถึงลำไส้ใหญ่

 

เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง

  • การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนักชนิดความละเอียดสูง (High-Resolution Anorectal Manometry) เป็นเครื่องมือตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง รวมถึงใช้ในการวินิจฉัยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้และภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจดูความไวของทวารหนักต่อการรับความรู้สึกจากการกระตุ้น โดยการใส่ลมเข้าไปในลูกโป่งที่อยู่ปลายของสายตรวจเพื่อกระตุ้นความรู้สึกภายในทวารหนัก การตรวจนี้ช่วยให้แพทย์สามารถหาสาเหตุของความผิดปกติวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างตรงจุด
  • การฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ ( Biofeedback Training ) ผู้ป่วยที่มีการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี ทำให้เกิดภาวะท้องผูกร้อยละ 25-30% ซึ่งเราสามารถตรวจและสอนเรื่องการเบ่งที่ถูกวิธีได้ มีการฝึกหายใจ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นหลักแทนการหายใจด้วยปอดและสอนให้ฝึกเบ่งโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยระหว่างการฝึกจะมีแพทย์หรือพยาบาลคอยให้คำแนะนำ การฝึกถ่ายอุจจาระที่ถูกวิธีเพื่อรักษาโรคท้องผูก
  • การตรวจดูการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ ( C olonic Transit Time ) เพื่อตรวจดูการทำงานของลำไส้ใหญ่ว่าเร็วช้าขนาดไหน มีความผิดปกติหรือไม่ โดยให้ผู้ป่วยกลืนเม็ดยาที่มีแถบทึบแสง (Sitzmarks Radiopaque Makers) หลังจากที่ผู้ป่วยกลืนไปได้ 3 และ 5 วัน จะทำการเอ็กซ์เรย์ดูจำนวน marker ที่เหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่ ถ้า Sitzmark Radiopaque Makers ยังกระจายอยู่ทั่วไปแสดงว่าลำไส้ไม่ทำงาน โดยระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องงดยาระบาย
  • การตรวจการเบ่งถ่ายด้วยเครื่อง MRI (MRI Defecography) เป็นการตรวจด้วยเครื่อง X Ray MRI เพื่อดูพยาธิสภาพของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อ หรือความผิดปกติอุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนักและสามารถดูความสัมพันธ์ของการเบ่งถ่ายอุจจาระกับการทำงานของกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนักได้ ผู้ป่วยสามารถเห็นและเข้าใจการทำงานของลำไส้และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานขณะเบ่งได้ โดยแพทย์คอยให้คำอธิบาย

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

การเตรียมตัวขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจแต่ละวิธี ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยปกติการตรวจโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติการผ่าตัด ยาที่ใช้เป็นประจำ รวมถึงต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า ระยะเวลาในการงดน้ำและอาหารขึ้นอยู่กับการตรวจแต่ละวิธี โดยทั่วไปแพทย์จะให้งดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมงล่วงหน้าและงดยาบางอย่างก่อนทำการตรวจ ส่วนการตรวจกรดไหลย้อนต้องลดยาลดกรดอย่างน้อย 3-5 วัน ทั้งนี้แล้วแต่ดุลพินิจของแพทย์ผู้ตรวจเป็นรายๆไป

 

ผลข้างเคียงจากการตรวจ

การตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก ผลข้างเคียง เช่น ในกรณีที่มีการใส่สายเข้าทางจมูก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางจมูกบ้างซึ่งอาจเกิดจากที่ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินหรือผู้ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น
 

IMG
IMG
IMG
IMG

 

Live support
We are sorry, but support is not available at the moment.