bih.button.backtotop.text

อะดีนอยด์โต อีกหนึ่งสาเหตุของโรคนอนกรนในเด็ก

20 กรกฎาคม 2566

อะดีนอยด์เป็นน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย อะดีนอยด์มีบทบาทสำคัญในช่วงวัยเด็กตั้งแต่ 1-10 ปี แต่ค่อยๆลดหน้าที่ลงเมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่น  ในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเป็นหวัดเรื้อรังซ้ำซาก ปัญหาเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้อะดีนอยด์โตขึ้นได้

อะดีนอยด์โตมักพบในเด็กอายุประมาณ 2-6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีกิจกรรมในสังคมร่วมกับเด็กอื่นๆ เช่น ไปโรงเรียน ทำให้ติดหวัดกันและกันไปมา จนไปกระตุ้นให้อะดีนอยด์ให้โตขึ้น

 

 
ปัญหาหลักจากอะดีนอยด์โตมีอะไรบ้าง
  • อะดีนอยด์ที่มีขนาดใหญ่จะไปขวางช่องทางเดินหายใจ ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง ส่งผลให้เด็กมีปัญหาเรื่องการหายใจไม่สะดวก นอกกรน กระสับกระส่ายและหลับไม่สนิท ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ที่ถูกบั่นทอนจากการนอนหลับไม่เพียงพอ
  • มีเชื้อโรคหลบซ่อนอยู่ในตัวเนื้ออะดีนอยด์ กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เป็นเหตุให้เด็กเป็นหวัดซ้ำซากได้
 
วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเด็กมีอะดีนอยด์โต
ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่มักมาปรึกษาเรื่องลูกเป็นหวัดบ่อย คัดจมูกและนอนกรน เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายเด็กจะเห็นลักษณะของอาการหายใจทางปาก และอาจเห็นทอนซิลที่โต ซึ่งแพทย์สามารถสันนิษฐานได้ว่าอะดีนอยด์มีขนาดโตเช่นกันเพราะทั้งสองอย่างมักโตควบคู่กัน แพทย์อาจจะวินิจฉัยยืนยันด้วยการตรวจเอกซเรย์ทางด้านข้างของศีรษะ ทำให้เห็นเงาของอะดีนอยด์ หากเด็กโตพอให้ความร่วมมือในการตรวจ แพทย์อาจส่องกล้องเข้าไปตรวจภายในโพรงจมูก ทำให้เห็นขนาดของอะดีนอยด์ได้
 
มีวิธีการรักษาอย่างไร
แพทย์จะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ให้เข้าใจในความสำคัญของการรักษา หากเด็กยังมีอาการอักเสบติดเชื้อ แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจนกว่าจะหายดี หากเด็กมีปัญหาภูมิแพ้ร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาที่เหมาะสมเพื่อควบคุมอาการภูมิแพ้และแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตอาการ หากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเด็กยังมีอาการนอนกรนและป่วยบ่อยอยู่ แพทย์จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัด
 
ความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง ที่คุณพ่อคุณแม่มักกังวลก่อนการผ่าตัด

คำถามที่แพทย์พบบ่อยคือ หากผ่าตัดทอนซิลและอะดีนอยด์ออกแล้ว ทำให้ภูมิต้านทานของเด็กลดลงหรือไม่ ซึ่งการวิจัยทางการแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่าการผ่าตัดไม่ได้ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงแต่อย่างไร

ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด
แพทย์จะตรวจร่างกายว่าเด็กแข็งแรงมีสุขภาพดีพอสำหรับการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เพียงงดน้ำงดอาหาร 8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่แพทย์จะผ่าตัดในช่วงเช้าเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกหิว ไม่ต้องอดอาหารเป็นเวลานาน
 
ผ่าตัดได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
เป็นการผ่าตัดโดยการดมยาสลบ โดยใช้เครื่องมือผ่าตัดผ่านเข้าไปทางปาก โดยไม่มีแผลภายนอก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
 
หลังผ่าตัดควรควรปฎิบัติตัวอย่างไร

หลังผ่าตัดคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลให้ลูกปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดูแลให้เด็กรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนน้ำและแปรงฟันได้ตามปกติ
  • เด็กจะมีแผลในคอ ทำให้รู้สึกเจ็บคอและรับประทานอาหารได้น้อยลง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก จึงควรให้เด็กรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัดประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวนิ่มๆ ไข่ตุ๋นที่รสไม่จัด โดยทั่วไปเด็กจะรับประทานอาหารได้ตามปกติภายใน 3 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงกีฬาว่ายน้ำอย่างน้อย 3 สัปดาห์
  • แนะนำให้หยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์
 
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีอย่างไรบ้าง
มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก เช่น เลือดออกหรือแผลติดเชื้อ 

คุณพ่อคุณแม่มักกังวลใจ ไม่อยากให้ลูกต้องผ่าตัด แต่ควรชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความเสี่ยงของการผ่าตัดกับความเสี่ยงของโรคที่ดำเนินไป ซึ่งความเสี่ยงของโรคที่ดำเนินไปมีมากกว่าความเสี่ยงในการผ่าตัดอย่างชัดเจน การผ่าตัดอะดีนอยด์เป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง โดยเฉพาะหากได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ชำนาญ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมให้คำปรึกษาและรักษาทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจของเด็ก

ที่มา รศ.นพ. วีระชัย ตันตินิกร



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs