bih.button.backtotop.text

ตรวจตับด้วย Fibroscan ทางเลือกใหม่ที่ไม่เจ็บ

24 มกราคม 2552

เทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้การตรวจความยืดหยุ่นของตับทำได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และไม่เกิดแผล

โรคที่เกิดกับตับนั้นเป็นโรคที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุดโรคหนึ่ง ในประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ชายโดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ประมาณ 15,000 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงภาวะตับอักเสบอันเกิดจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ อีก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตับนั้นไล่เรียงกันไปตามลำดับมีตั้งแต่ ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ตับเริ่มแข็ง ตับแข็ง และมะเร็งตับ

ไม่ว่าความผิดปกติที่เกิดแก่ตับจะมีมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ความสามารถที่จะวินิจฉัยอาการผิดปกติได้ตั้งแต่แรกเริ่ม และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการลดความรุนแรงของโรค ที่อาจนำไปสู่ภาวะตับแข็งที่ไม่อาจฟื้นฟูได้อีก ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี Fibroscan เข้ามาใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษา ทำให้การดูแลป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคตับประสบกับภาวะตับแข็งเป็นไปได้อย่าง สะดวก และสม่ำเสมอมากขึ้น


รวดเร็ว แม่นยำ ไร้แผล

เพื่อทำความรู้จักกับเทคโนโลยีอันน่า ตื่นเต้นนี้ Better Health ได้พูดคุยกับ นพ. วีระกิตต์ อภิรัฐประชาศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ได้อธิบายถึง Fibroscan ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจภาวะตับแข็งโดยเฉพาะ โดยอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นเสียง ที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ เป็นการตรวจหาพังผืดในตับ หรือตรวจภาวะตับแข็งเพื่อดูระดับความรุนแรงของโรค รวมทั้งตรวจติดตามผลการรักษา”

นอกจากความแม่นยำ และไม่ทำให้เกิดแผลแล้ว กระบวนการ ตรวจด้วย Fibroscan ยังทำได้อย่างรวดเร็วโดยแพทย์จะวางอุปกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยสัญญาณเสียงไว้ที่ชายโครงด้านขวา แล้วปล่อยสัญญาณ เสียงความถี่ต่ำ เข้าไปที่ตับ จากนั้นซอฟท์แวร์ จะแปลผลจากความเร็วในการ สะท้อนกลับของเสียงออกมา เป็นค่าที่แพทย์จะสามารถ พยากรณ์โรคได้ต่อไป “การตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan แต่ละครั้งจะใช้ เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อแพทย์อ่านผลแล้วก็สามารถวางแผนการ รักษาได้ทันที” นพ. วีระกิตต์กล่าว
 

ตรวจได้บ่อย ปราศจากผลข้างเคียง

สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และซี หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว ตามปกติแพทย์จะนัดมาทำการตรวจตับเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามสภาวะ ของตับ ซึ่ง นพ. วีระกิตต์อธิบายว่า “โรคไวรัส ตับอักเสบบี และซีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตับแข็ง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจตับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเดิมจะทำโดยการเจาะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อตับทุก ๆ 2 ถึง 3 ปีเพื่อตรวจในห้องแล็บ วิธีการนี้ผู้ป่วยส่วนมากได้ยินแล้ว ก็มักจะตกใจ เพราะฟังดูน่ากลัวแต่เดี๋ยวนี้ เราตรวจได้เลยโดยใช้ Fibroscan และผู้ป่วยก็กลับบ้านได้ทันที และด้วยความที่ไม่มีแผล ไม่มีผลข้างเคียง เราสามารถทำการตรวจได้บ่อย เท่าที่ต้องการ โดยที่ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าอีกด้วย”

เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาให้รุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ขณะนี้ Fibroscan จะใช้สำหรับการตรวจความยืดหยุ่นของตับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตเทคโนโลยีนี้อาจได้รับการพัฒนา ให้มีที่ใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการวินิจฉัยและการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคตับต่อไป
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs