bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่าโดยวิธีส่องกล้อง

หมอนรองกระดูกเข่าทำหน้าที่สำคัญในการใช้งานเข่าในระยะยาว ในอดีตที่ผ่านมานั้น ศัลยแพทย์จะผ่าตัดโดยการนำหมอนรองกระดูกเข่าส่วนที่ได้รับบาดเจ็บออกมา แต่ทุกวันนี้ศัลยแพทย์ได้ตระหนักว่าการทำเช่นนั้นจะนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมได้ ดังนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการรักษาจุดที่ฉีกขาด หากจำเป็นต้องผ่าตัดนำออก ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลระหว่างการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อโดยรอบได้รับการกระทบกระเทือน

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่านั้นทำโดยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นกล้องใยแก้วนำแสงขนาดเล็กจิ๋วที่ใช้ตรวจดูและทำการผ่าตัดภายในข้อเข่า แพทย์จะเจาะเปิดผิวหนังเพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหัวเข่าแต่อย่างใด

ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาดมสลบหรือการบล็อกหลัง จากนั้นแพทย์จะทำการเจาะรูที่หัวเข่า 2-3 รู หรือที่เรียกว่า portal ซึ่ง portal นี้เองจะใช้ในการใส่กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปในหัวเข่า แพทย์จะทำหัตถการด้วยความระมัดระวังและป้องกันมิให้เส้นประสาทและเส้นเลือดโดยรอบได้รับการกระทบกระเทือน

จุดประสงค์ในการทำหัตถการ
เป้าหมายของการผ่าตัดคือบรรเทาอาการเหล่านี้ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวเข่าได้และจำเป็นต้องฝืน อาจทำให้บางส่วนของรอยฉีกขาดนั้นเปิดออกและยื่นออกมา ซึ่งส่วนที่ยื่นออกมานี้อาจไปโดนหัวเข่าได้เมื่องอเข่า หรือชิ้นส่วนที่ฉีกขาดอาจหลุดออกมาและลอยอยู่รอบๆ ข้อเข่า และไปติดอยู่ระหว่างส่วนใดส่วนหนึ่งของเข่า ทำให้เข่ายึดเคลื่อนไหวไม่ได้ ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และอาจเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อรักษารอยฉีกขาดและนำชิ้นที่หลุดลอยนั้นออกมา

อย่างไรก็ตาม หากหมอนรองกระดูกเสียหายเป็นบริเวณกว้างเกินกว่าจะรักษาได้ จำเป็นจะต้องผ่าตัดนำออกทั้งหมด
การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัด
  1. หากอยู่ระหว่างการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากโรคประจำตัว เช่น ยา Aspirin, Persantin, Ticlid, Plavix, Warfarin, Heparin, Fraxiparine ให้หยุดยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดโดยการพิจารณาจากแพทย์
  2. แพทย์จะประเมินสุขภาพของท่านโดยการตรวจร่างกาย เจาะตรวจเลือด เอกซเรย์ และตรวจคลื่นหัวใจตามความเหมาะสม
  3. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการทำผ่าตัด
  4. หากมีอาการป่วย มีไข้ก่อนวันผ่าตัด 1 วัน ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษา
  5. ควรงดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนการผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง
  6. ผู้ป่วยอาจต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดซึ่งจะช่วยวางแผนการฟื้นฟูร่างกายหลังจากผ่าตัดและเพื่อที่จะได้เริ่มต้นการฟื้นฟูได้ทันที การได้พบกับนักกายภาพบำบัดก่อนการผ่าตัดมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น นักกายภาพจะประเมินระดับความเจ็บปวด ความสามารถในการทำกิจกรรม การเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของหัวเข่าแต่ละข้าง วัตถุประสงค์อีกประการของการพบนักกายภาพก่อนการผ่าตัดคือเพื่อการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด นักกายภาพจะสอนให้ผู้ป่วยฝึกเดินอย่างปลอดภัยโดยใช้ไม้ค้ำหรืออุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้ท่าการออกกำลังกายที่จะช่วยในการฟื้นฟูร่างกายอีกด้วย
  7. ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องมาถึงโรงพยาบาลแต่เช้าเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยใน ห้ามมิให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของคืนก่อนวันผ่าตัด
 
ขั้นตอนการทำหัตถการ
ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาดมสลบหรือการบล็อกหลัง จากนั้นแพทย์จะทำการเจาะรูที่หัวเข่า 2-3 รู หรือที่เรียกว่า portal ซึ่ง portal นี้เองจะใช้ในการใส่กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปในหัวเข่า การผ่าตัดเพื่อการนำหมอนรองกระดูกเฉพาะส่วนที่เสียหายออกไปนั้นเรียกว่า partial meniscectomy แพทย์จะเริ่มต้นการผ่าตัดโดยการใส่กล้องเข้าไปใน portal รูที่หนึ่ง จากนั้นใส่สาย probe เข้าไปใน portal อีกรู แพทย์จะดูบนหน้าจอขณะที่ใส่สาย probe เข้าไปยังหมอนรองกระดูก ซึ่งทำให้สามารถตรวจภายในข้อเข่าได้ทั้งหมด เมื่อพบบริเวณที่มีการฉีกขาดแล้ว แพทย์จะทำการบ่งชี้ลักษณะของการขาดและบริเวณที่แน่นอน จากนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์การผ่าตัดเข้าไปใน portal อีกรูหนึ่ง ซึ่งจะเป็นรูที่ใช้นำชิ้นส่วนหมอนรองกระดูกที่ขาดออกมา
เมื่อนำส่วนที่เสียหายออกมาได้แล้ว แพทย์จะตรวจสอบหัวเข่าอีกครั้งด้วย probe เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีส่วนที่เสียหายหลงเหลืออยู่อีก จากนั้นแพทย์จะใช้คัตเตอร์ขนาดเล็กในการตัดแต่งให้หมอนรองกระดูกมีรูปทรงที่เหมาะสมและล้างข้อต่อด้วยน้ำเกลือเพื่อล้างเศษเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดให้หลุดออกไป และทำการเย็บปิด portal
 
การรักษาด้วยการเย็บ
Suture Repair
แพทย์จะทำการบ่งชี้ตำแหน่งที่มีการฉีกขาดด้วยกล้องและ probe และใช้ probe ในการยึดบริเวณที่ขาดออกจากกันเข้าด้วยกัน และใช้ rasp หรือ shaver เพื่อเกลาผิวที่ขรุขระของรอยฉีกให้เรียบขึ้น จากนั้นจะทำการสอดท่อที่เรียกว่า cannula เข้ามาใน portal และทำการเย็บผ่าน cannula นี้ และดึงไหมให้ตึงเพื่อให้รอยขาดติดกัน มัดปม 2-3 ครั้ง และทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเย็บรอยขาดได้ทั้งหมด
อีกวิธีหนึ่งคือการใช้เข็ม 2 เล่มแทงผ่านข้อเข่า เข็มจะเข้าจากริมด้านหนึ่งของหมอนรองกระดูกไปยังบริเวณที่มีการฉีกขาด และสอดไหมเย็บเข้าทาง portal ไปยังส่วนปลายของเข็ม หรือสนไหมเข้ากับเข็มจากด้านนอกหัวเข่า ทั้งสองวิธีจะสามารถทำการเย็บรอยฉีกขาดได้ และแพทย์สามารถเย็บขอบที่ฉีกขาดของหมอนรองกระดูกได้เช่นกัน

Suture Anchor Repair
อุปกรณ์เพื่อการเย็บติดอีกชิ้นหนึ่งคือ suture anchor มักใช้เพื่อเย็บรอยฉีกขาดให้ติดเข้าด้วยกัน อุปกรณ์ชนิดนี้จะถูกสลายไปตามธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าจะละลายและดูดซึมไปในร่างกาย สำหรับ suture anchor นี้จะมีขาชี้ออกมาลักษณะคล้ายธนู และทำหน้าที่เสมือนลวดเย็บกระดาษ
วิธีนี้จะได้ผลดีมากหากรอยฉีกขาดมีเพียงรอยเดียวและอยู่ใกล้บริเวณขอบ (red zone) ของหมอนรองกระดูก (ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าส่วนนี้จะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากที่สุด) จากนั้นแพทย์จะใช้ probe ในการจัดวางของรอยฉีกขาด และใช้อุปกรณ์การผ่าตัดขนาดเล็กในการวางตัว suture anchor ลงไปในบริเวณของหมอนรองกระดูกที่ฉีกขาด โดยปกติมักใช้เพียง 2–3 ชิ้นเท่านั้น แต่ถ้ารอยฉีกขาดขนาดใหญ่อาจต้องใช้ 6 ชิ้น ตัว anchor นี้จะยึดขอบของรอยฉีกเข้าด้วยกันเพื่อให้สมานตัว ซึ่ง anchor จะละลายและดูดซึมไปในร่างกายโดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน

การปฏิบัติตนหลังทำหัตถการ
หลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่า ผู้ป่วยจะได้รับการพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน แพทย์จะปิดรู portal ไว้เป็นอย่างดีและพันทับด้วยผ้าพันแผลแบบยางยืด

ผู้ป่วยอาจต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินหลังผ่าตัด ซึ่งอาจต้องใช้เพียง 1-2 วันหลังผ่าตัดในกรณีไม่ซับซ้อน แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าผู้ป่วยจะสามารถทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างที่ผ่าตัดได้มากน้อยเพียงใด โดยปกติแล้วแพทย์จะสั่งไม่ให้ผู้ป่วยทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างนั้นเลยเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใส่ knee brace อย่างน้อย 6 สัปดาห์ โดย knee brace จะช่วยให้เข่าอยู่ในลักษณะตรง ผู้ป่วยสามารถถอดออกระหว่างวันได้เมื่อต้องการบริหารขา

กรุณาปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องการลงน้ำหนักลงบนขาขณะยืนหรือเดิน พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ขามากๆ หรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยประคบเย็นที่เข่าและยกเข่าให้สูงหรือหาอะไรรองเข่าเอาไว้
ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เอกสารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงอาการแทรกซ้อนทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้น แต่จะกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยเท่านั้น เช่น
  • อาการแทรกซ้อนจากการใช้ยาดมสลบ การผ่าตัดส่วนใหญ่แล้วต้องมีการใช้ยาสลบ แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนักที่อาจมีปัญหาจากการใช้ยาสลบ เช่น การแพ้ยาสลบที่ใช้ ปัญหาเกี่ยวกับยาตัวอื่นๆ และปัญหาที่เกิดจากยาสลบ ผู้ป่วยควรปรึกษาวิสัญญีแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและความกังวลที่มีอยู่
  • ลิ่มเลือดอุดตัน (thrombophlebitis) หรือบางครั้งเรียกว่า deep vein thrombosis (DVT) สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดทุกประเภทเนื่องจากเลือดจับตัวเป็นลิ่มในเส้นเลือดใหญ่บริเวณขา เป็นเหตุให้ขาบวมและปวด หากลิ่มเลือดนี้แตกตัว ลิ่มเล็กๆ จะไหลเวียนไปตามเส้นเลือดและอาจไปยังปอดได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าลิ่มเลือดขนาดเล็กจะไปฝังอยู่ในเส้นเลือดฝอยทำให้ปอดได้รับเลือดไม่เพียงพอ หรือเรียกอาการนี้ว่า pulmonary embolism (pulmonary หมายถึงปอด ส่วน embolism หมายถึงสิ่งแปลกปลอมที่ไหลเวียนอยู่ในระบบหมุนเวียนเลือด)
สำหรับศัลยแพทย์แล้ว deep venous thrombosis ถือเป็นเรื่องใหญ่ มีหลายวิธีในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด deep venous thrombosis แต่วิธีที่ดูจะได้ผลดีที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้เร็วที่สุดหลังผ่าตัด อีกสองวิธีในการป้องกันคือ การใช้ pressure stockings เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณขา และการใช้ยาสลายลิ่มเลือด
  • การติดเชื้อ หลังจากการผ่าตัดมีความเป็นไปได้ที่รูเปิด portal ที่ผิวหนังจะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา หรืออาจต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อรักษาการติดเชื้อ
  • ปัญหาที่เกิดจากการใช้ suture anchor โดย suture anchor อาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกันหากตัวใดตัวหนึ่งหักหลุดออกมา ชิ้นส่วนที่หลุดออกมานั้นอาจไหลไปตามบริเวณต่างๆ ภายในข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณกระดูกอ่อน นอกจากนี้ ส่วนปลายของ anchor อาจยื่นเข้าไปในหมอนรองกระดูกมากเกินไป หากเป็นเช่นนั้น ปลายแหลมของมันอาจเสียดสีหรือทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ระคายเคือง และผู้ป่วยอาจต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหานี้
  • ฟื้นตัวช้า หลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่าแล้ว ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้เร็วนัก ผู้ป่วยบางรายรู้สึกว่าอาการดีขึ้นและเข่าไม่บวม แต่ยังคงไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างที่เคยทำได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่เอ็นเข่าหรือกระดูกอ่อนเสียหายจะฟื้นตัวได้ช้าลงไปอีก
  • ความเจ็บปวดไม่ทุเลา หลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่า ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บปวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง หากความเจ็บปวดนั้นไม่ทุเลาหรือเจ็บมากจนทนไม่ไหว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการบรรเทาความเจ็บปวด
หมอนรองกระดูกที่ฉีกขาดนั้นไม่สมานตัวเองได้ แต่ส่วนขอบ (red zone) ฉีกขาดเล็กน้อยจะมีโอกาสสมานตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หากการฉีกขาดเกิดขึ้นลึกเข้าไปด้านในจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้หากการฉีกขาดก่อให้เกิดอาการต่างๆ หมายความว่าการฉีกขาดนั้นกินบริเวณกว้างขึ้นและทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่ามีโอกาสได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วย

โดยปกติแล้วศัลยแพทย์จะพยายามเก็บรักษาหมอนรองกระดูกเอาไว้ หากจำเป็นต้องผ่าตัดนำออก แพทย์จะพยายามนำออกในจำนวนน้อยที่สุด การป้องกันบริเวณโดยรอบไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือนจากการผ่าตัดนั้นมีความสำคัญมาก หากรอยฉีกขาดนั้นสามารถแก้ไขได้ แพทย์มักแนะนำให้รักษาโดยการเย็บ

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 7.29 of 10, จากจำนวนคนโหวต 14 คน

Related Health Blogs