bih.button.backtotop.text

การใช้ยาในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน ทำให้ได้รับยาหลายรายการ ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาเกินความจำเป็น เกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากยา รวมไปถึงอันตรกิริยาระหว่างยา (ยาตีกัน) ได้
 

ผู้สูงอายุควรใช้ยาอย่างไรจึงจะปลอดภัย

ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย ทั้งการเคลื่อนไหว สายตา และความจำ ดังนั้นจึงควรมีผู้ดูแลคอยจัดยาให้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง โดยสิ่งที่สำคัญในการเริ่มใช้ยาคือ การอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา
 

ยาก่อน-หลังอาหาร รับประทานอย่างไร

ยาก่อนอาหารควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ส่วนยาหลังอาหารสามารถรับประทานหลังอาหารได้ทันทีโดยไม่แตกต่างจากการรับประทานหลังอาหาร 15 นาที
 

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร

โดยทั่วไปหากลืมรับประทานยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากยาบางชนิดให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ยาบางชนิดอาจต้องรอรับประทานมื้อถัดไป
 

การลืมรับประทานยาส่งผลต่อการรักษาโรค ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไม่ลืมรับประทานยา

นอกจากการมีผู้ดูแลคอยจัดยาแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถเลือกใช้เป็นตัวช่วยในการรับประทานยาให้ถูกต้องมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
  • กล่องใส่ยา เช่น กล่องใส่ยาที่ระบุวันของสัปดาห์ ผู้สูงอายุที่มีการรับประทานยาหลายชนิดและมีความซับซ้อนอาจเลือกกล่องยาที่แยกเป็นมื้อละเอียดมากขึ้น
  • นาฬิกาปลุก สามารถเลือกใช้นาฬิกาข้อมือหรือโทรศัพท์มือถือตั้งเวลาปลุกเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานยา
  • แอพพลิเคชันสำหรับเตือนให้รับประทานยาในสมาร์ทโฟน สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้เตรียมยาล่วงหน้าครั้งละมากๆ หากเป็นยาบรรจุแผง แนะนำให้ตัดแผงยาตามเม็ดและเอาเม็ดยาออกจากแผงเมื่อจะรับประทานเท่านั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจไวต่อแสงหรือความชื้นทำให้เสื่อมสภาพได้ง่าย
 

หากผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ผู้สูงอายุสามารถปรับขนาดการใช้ยาเองได้หรือไม่

การปรับเพิ่มขนาดยาเองอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากยา ส่วนการปรับลดขนาดยาเองอาจลดประสิทธิภาพของยาจนไม่ได้ผลการรักษา เช่น ยาลดความดันโลหิตที่รับประทานต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ หากหยุดยาเองทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปรับขนาดยาหรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
 

การที่ผู้สูงอายุต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อการทำงานของตับและไตหรือไม่

ตับและไตเป็นอวัยวะที่สำคัญในการขจัดยาออกจากร่างกาย ในผู้สูงอายุประสิทธิภาพของการขจัดยาจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว ขนาดยาที่เท่ากันอาจมีฤทธิ์ตกค้างในร่างกายผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะถ้ายานั้นมีพิษต่อตับหรือไตก็จะยิ่งทำให้การทำงานของตับหรือไตเสื่อมสภาพลง การใช้ยาในผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินติดตามค่าการทำงานของตับและไต และคอยปรับขนาดยาที่เหมาะสมให้
 

ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้มากกว่าวัยอื่นใช่หรือไม่

เนื่องจากผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่เสื่อมลงทุกระบบ การใช้ยาจึงมีความเสี่ยงกว่าวัยอื่น ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุมักเกิดอาการหน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่าลุกขึ้นยืนจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เมื่อรับประทานยาลดความดันโลหิตอาจยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นลม ล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่าหรือปวดข้อที่ต้องรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร การรับรู้ทางกายที่ลดลงอาจทำให้ไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด กว่าจะตรวจพบสาเหตุก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเองควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หากพบปัสสาวะหรืออุจจาระมีสีคล้ำซึ่งเป็นสัญญาณของอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
 

ยากลุ่มใดที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ

ยากลุ่มที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาแก้แพ้ และยาแก้ปวด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขึ้นหรือไตวายได้ ดังนั้นจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุที่มีประวัติความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคไต อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุไม่ควรซื้อยารับประทานเองและควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
 

ผู้สูงอายุที่ใช้ยาหลายชนิดมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอันตรกิริยาระหว่างยา (ยาตีกัน) จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้อย่างไร

ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยารุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดชนิดที่ทำให้มีอาการง่วงซึมเมื่อรับประทานร่วมกับยานอนหลับอาจกดสมองจนหลับลึกเกิดอันตรายได้ ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เมื่อรับประทานพร้อมนม แคลเซียม หรือยาลดกรด ยาจะจับกับแร่ธาตุเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ไม่ดูดซึม จึงต้องรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อผู้สูงอายุมาโรงพยาบาลจึงควรจดจำชื่อยาที่รับประทานหรือนำยาที่ใช้อยู่ทั้งหมดมาให้แพทย์หรือเภสัชกรดู เพื่อจะได้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดของยาหรือเวลาที่รับประทานยา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหายาตีกันที่อาจเกิดขึ้นได้
 

การรับประทานวิตามิน สมุนไพร หรืออาหารเสริมในผู้สูงอายุมีข้อควรระมัดระวังอย่างไรบ้าง

การรับประทานวิตามิน สมุนไพร หรืออาหารเสริมควรต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับโรคหรือภาวะที่เป็น สมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิดไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไตเพราะอาจทำให้แร่ธาตุในร่างกายผิดปกติหรือการทำงานของไตแย่ลงได้ การเลือกใช้จึงควรมีข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนการเริ่มใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดตามมาโดยเฉพาะปัญหายาตีกัน

 

ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ

    • นำรายการยาหรือยาที่รับประทานทุกชนิดมาทุกครั้งที่พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทบทวนความเหมาะสมของการใช้ยา
    • ควรสอบถามถึงอาการข้างเคียงในการใช้ยาและข้อควรระวังทุกครั้งเมื่อเริ่มยาใหม่