bih.button.backtotop.text

อะลูมิเนียมอาจทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้

01 มกราคม 2558
ในช่วงหลายปีหลังมานี้ นักวิจัยพบว่าภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายและจำนวนตัวอสุจิลดน้อยลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากการได้รับอะลูมิเนียมที่ปะปนอยู่ในบรรจุภัณฑ์หรือของกินของใช้ต่างๆ ตั้งแต่กระป๋อง ยาลดกรดกระดาษฟอยล์ ช้อนส้อมไปจนถึงโรลออนระงับเหงื่อ

ทั้งนี้ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Lyon และ Saint-Etienne ในฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัย Keele ในสหราชอาณาจักรยืนยันว่า ยิ่งมีอะลูมิเนียมในน้ำอสุจิปริมาณมาก ตัวอสุจิก็ยิ่งลดน้อยลง โดยเป็นการตรวจสอบเชื้ออสุจิของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 62 รายผ่านกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งพบว่ามีอะลูมิเนียมปะปนอยู่ทั้งในน้ำอสุจิหรือแม้แต่ในเชื้ออสุจิแต่ละตัว

อันที่จริงแล้ว อันตรายของอะลูมิเนียมที่มีต่อสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างอะลูมิเนียมกับจำนวนอสุจิของมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการควบคุมปริมาณของอะลูมิเนียมอย่างเข้มงวดมากขึ้น


อยากมีลูก? อย่าเครียด

ภาวะมีบุตรยากอาจเป็นประสบการณ์ที่แสนกดดันสำหรับชีวิตคู่ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าความเครียดและความกดดันนั่นเองที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก เรื่องนี้นักวิจัยมีข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน

จากการศึกษาเพื่อต่อยอดงานวิจัยเดิม นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์เว็กซ์เนอร์แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ พบว่าผู้หญิงที่มีระดับของอัลฟาอะไมเลสสูงมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงถึงร้อยละ 29 ในแต่ละเดือน และมีโอกาสถูกจัดอยู่ในข่ายผู้มีบุตรยากเพิ่มสูงถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีสารดังกล่าวในระดับต่ำ โดยอัลฟาอะไมเลสนั้นเป็นสารบ่งชี้ทางชีวภาพถึงความเครียดที่วัดได้จากน้ำลาย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาผู้หญิงอเมริกันจำนวน 501 ราย อายุระหว่าง 18-40 ปีที่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์และเพิ่งเริ่มพยายามมีบุตร โดยติดตามศึกษาเป็นเวลา 1 ปีหรือจนกว่าจะตั้งครรภ์ นับเป็นครั้งแรกที่อาจกล่าวได้ว่าผลการศึกษานั้นมีนัยสำคัญทางคลินิก เพราะผลกระทบจากความเครียดเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากมากกว่า 2 เท่า นี่จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ที่พยายามตั้งครรภ์หาหนทางลดความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆ อย่างจริงจังมากขึ้น


อาการร้อนวูบวาบมีผลกับกระดูก

งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่าอาการร้อนวูบวาบตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงช่วงใกล้หมดประจำเดือนอาจมีความเกี่ยวพันกับอาการกระดูกสะโพกหักและกระดูกอ่อนแอ

อาการร้อนวูบวาบพบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือนถึงร้อยละ 60 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอลงจากภาวะกระดูกพรุนแม้ผู้หญิงจะหมดประจำเดือนแล้วก็ตาม จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นสตรีชาวอเมริกันจำนวนกว่า 23,000 รายที่มีอายุระหว่าง 50-79 ปี เป็นระยะเวลา 8 ปี โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า ผู้หญิงที่มีอาการของคนวัยหมดประจำเดือน

ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงมีโอกาสพบปัญหาเรื่องกระดูกมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่าความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นในช่วงหมดประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับภาวะกระดูกสะโพกหัก แต่นักวิจัยก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นสาเหตุสืบเนื่องกันโดยตรงและยังคงต้องมีการศึกษากันต่อไป เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการป้องกันและรับมือภาวะกระดูกพรุนหรือปัญหาของกระดูกอื่นๆ ได้ดีขึ้น



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs