bih.button.backtotop.text

เรียนรู้รับมือ...โรคลมชักในเด็ก

12 มกราคม 2556
การรับมืออย่างถูกต้อง ช่วยลดอันตรายจากอาการชัก

อาการชัก ร่างกายแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ อาจสร้างความตระหนกตกใจให้กับหลายคนที่พบเห็น ซึ่งโดยมากแล้วมักจะรับมือกันไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก หลายคนที่พบเห็นต่างก็พยายามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่คุณทราบหรือไม่ว่า หลายครั้งที่ความช่วยเหลือนั้นกลับกลายเป็นอันตรายตามมาหากทำไม่ถูกวิธี Better Health ในมือคุณฉบับนี้มีเรื่องราวของโรคลมชักในเด็กมาฝาก เพื่อความเข้าใจและรับมืออย่างถูกต้อง
 

อาการชัก (Seizure) และโรคลมชัก (Epilepsy)



อาการชักหรือ Seizure เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสประสาทในสมอง ซึ่งมีผลทางร่างกาย และอาจมีผลต่อสภาวะการรู้สึกตัวร่วมด้วย” แพทย์หญิงปริญญรัตน์ บุรุษนุกูล กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยาอธิบาย 
  “ในเด็กที่มาด้วยอาการชักครั้งแรก ต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ชัก เช่น เจาะเลือดเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของ Electrolytes ระดับน้ำตาล หรือมีภาวะติดเชื้อหรือไม่”

พญ. ปริญญรัตน์ บุรุษนุกูล
 

สำหรับ โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น (Unprovoked Seizure) กล่าวคือ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบาย หรือมีไข้  
 

การวินิจฉัยโรคลมชัก



“ในเด็กที่มาด้วยอาการชักครั้งแรกยังคงให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักตั้งแต่ต้นเลยไม่ได้ ดังนั้นในครั้งแรกต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ชัก เช่น เจาะเลือดเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของ Electrolytes ระดับน้ำตาล หรือมีภาวะติดเชื้อหรือไม่ ในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอาจต้องมีการตรวจน้ำไขสันหลังและเอกซเรย์สมองร่วมด้วย” แพทย์หญิงปริญญรัตน์กล่าว “ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะเป็นโรคลมชักการซักประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด พัฒนาการ การเรียน ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติครอบครัว ร่วมกับการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจคลื่นสมอง (EEG) การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สมอง จะช่วยแยกประเภทและสาเหตุของโรคลมชักได้ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาโรคลมชักต่อไป และกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักมักไม่ปรากฏสาเหตุ”
 

อันตรายจากการชัก



หากใครมีโอกาสได้เห็นผู้ที่มีอาการชัก ต้องยอมรับว่าค่อนข้างน่าตกใจ
นายแพทย์ชาครินทร์ ณ บางช้าง กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยาอธิบายว่า “ในกรณีปกติ การชักโดยตัวมันเองแล้วมักไม่ค่อยมีอันตราย โดยอาจเกิดขึ้นและจบลงภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนมากแล้วอันตรายที่เกิดขึ้น มักเกิดจากคนรอบข้างที่พยายามให้การช่วยเหลืออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกายตามมา”

“แพทย์จะต้องตรวจอาการจนแน่ใจแล้วว่าเป็นโรคลมชักแน่ ๆ จึงให้การรักษา โรคลมชักบางชนิดก็อาจจะไม่ต้องรักษาเพราะเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นอาการก็จะค่อย ๆ หายไปเอง”

นพ. ชาครินทร์ ณ บางช้าง


 
อย่างไรก็ตาม แม้อาการชักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และจบลงในเวลาไม่นาน การพาเด็กไปพบแพทย์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อว่าแพทย์จะได้คอยตรวจสอบ ให้การดูแล และป้องกันการชักซ้ำ ๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต “แม้การชักมักจะไม่เป็นอันตรายและอาจหายได้เอง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งย่อมเกิดผลกระทบต่อตัวเด็กและพัฒนาการทางการเรียนรู้และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เด็กที่ชักบ่อย ๆ จะเริ่มถอยห่างจากเด็กที่ปกติกลายเป็นเด็กที่สติปัญญาช้า เรียนหนังสือไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าวสมาธิสั้นและมีปัญหาการเรียนตามมาเรื่อย ๆ”

อาการชักที่เป็นอันตราย คือ กรณีที่อาการชักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 30 นาที หรือการชักที่มีการสำลักร่วมด้วยและทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะทำให้สมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้อาการชักสั้น ๆ แต่ชักซ้ำหลายครั้งในวันเดียวก็เป็นอันตราย เนื่องจากจะทำให้อาการชักควบคุมยากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวพบได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนี้ อันตรายอื่น ๆ ได้แก่ การชักที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เด็กทำกิจกรรม เช่น ปีนป่ายที่สูง อยู่ใกล้ของมีคม มีกิจกรรมทางน้ำ หรือโดยสารยานพาหนะ เป็นต้น

การพาเด็กมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก สร้างความแตกต่างในแง่พัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก “การเปิดโอกาสให้เด็กชักซ้ำ ๆ นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อสมองของเด็กแล้ว ยังทำให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นจนยากที่จะควบคุมอีกด้วย” นายแพทย์ชาครินทร์กล่าว
 

รักษาอาการชักในเด็ก


นายแพทย์ชาครินทร์กล่าวถึงการรักษาโรคลมชักในเด็กว่าในการจะเริ่มกระบวนการรักษา แพทย์จะต้องตรวจอาการจนแน่ใจแล้วว่าเป็นโรคลมชักแน่ ๆ จึงให้การรักษา โรคลมชักบางชนิดก็อาจจะไม่ต้องรักษา เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นอาการก็จะค่อย ๆ หายไปเอง บางรายอาจชะลอการรักษาออกไปก่อน ไม่จำเป็นต้องรีบรักษาตั้งแต่การชักครั้งแรก จนกว่าจะมีการประเมินอย่างละเอียด เป็นต้น”

สำหรับกรณีที่ต้องรีบรักษาแพทย์ต้องพิจารณาต่ออีกว่าต้องรักษาด้วยยาตัวไหน เป็นเวลานานเท่าไร แพทย์จะต้องคุยกับผู้ปกครองของเด็กอย่างละเอียด ทั้งเรื่องการวินิจฉัย การรักษา และชนิดของโรคลมชัก ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้รวมทั้งวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อเกิดอาการ “การใช้ยากันชักไม่อาจป้องกันการชักได้เต็มร้อยเพียงแต่ลดโอกาสลงเท่านั้น เราจึงพบว่าผู้ป่วยบางรายเมื่อรับยาแล้วอาจไม่มีอาการอีกเลย ขณะที่บางรายรับยาไปแล้วในขนาดเริ่มต้นก็ยังมีอาการชักอยู่ ซึ่งกรณีนี้แพทย์จะต้องมีการทบทวนและปรับยาให้เหมาะสมต่อไป”

นอกจากยาแล้ว สิ่งที่แพทย์มักแนะนำอีกอย่างเพื่อป้องกันอาการชัก ได้แก่ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นการชักซึ่งมีหลายประการ เช่น การอดนอน อาการไข้ การได้รับยาไม่สม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ที่มีลูกเป็นโรคลมชัก ควรระวัง “ถ้าเริ่มรับยากันชักแล้ว คนไข้ต้องกลับมาพบแพทย์เป็นระยะ ๆ ทุก 2-3 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมอาการได้ดี ไม่มีผลข้างเคียงของยา และเด็กมีพัฒนาการที่ดีไม่มีปัญหาในการเรียน” นายแพทย์ชาครินทร์กล่าว

 

ตั้งสติให้ดีเมื่อลูกชัก


แพทย์ทั้งสองท่านเน้นย้ำว่าเมื่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองพบบุตรหลานของตนมีอาการชัก วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง คือตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ จับเด็กนอนราบก่อน จากนั้นตะแคงตัวเด็กไปด้านข้างเพื่อไม่ให้ลิ้นและน้ำลายไปอุดทางเดินหายใจ และเพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ที่สำคัญห้ามนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ใส่ปากผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยสำลักและทางเดินหายใจถูกอุดกั้น
ถ้าเด็กชักสั้น ๆ ไม่กี่นาทีแล้วหาย ทุกอย่างเป็นปกติดี อาจพาไปปรึกษาแพทย์ในวันรุ่งขึ้น หรือว่าจะค่อย ๆ มาพบแพทย์ในภายหลังก็ได้ตั้งสติให้ดี เมื่อมาพบแพทย์แล้ว ส่วนมากจะสามารถควบคุมอาการชักได้เป็นอย่างดี
            

อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการชัก


โรคลมชักอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งในผู้ที่มีสมองปกติ และผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง ผู้ที่มีสมองปกติ การชักอาจเกิดจากการได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
  • ไข้สูง
  • ระดับน้ำตาลและเกลือแร่ผิดปกติ
  • การใช้ยาบางชนิด
  • การอดนอน
ส่วนผู้ที่มีความผิดปกติในสมอง ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการชัก ได้แก่
  • โรคทางพันธุกรรมที่มักมีอาการชักร่วมด้วย
  • ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับสารเสพติด การขาดอาหาร หรืออุบัติเหตุในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • การกระทบกระเทือนต่อสมองเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือการขาดออกซิเจน
  • การติดเชื้อในสมอง อาทิ ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
  • เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง


แนวทางรับมือและป้องกันอันตรายจากการชัก
 

  • พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ
  • ถ้าเด็กนั่งอยู่ให้จับเด็กเอนราบลงกับพื้น ตะแคงตัวไปด้านข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก
  • พยายามนำตัวเด็กไปยังที่โล่ง ห่างไกลของมีคม เช่น มุมโต๊ะ หรือวัตถุมีคมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
  • คลายเสื้อผ้าที่รัด ๆ กันคนมุงออกไปห่าง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท
  • หากพบว่าเด็กมีไข้ ให้พยายามเช็ดตัวลดไข้
  • หากพบว่าร่างกายแข็งเกร็ง อย่าพยายามนวด ง้าง ดึง
  • ห้ามนำสิ่งของยัดใส่ปากผู้ที่มีอาการชักเด็ดขาด นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายในช่องปากเช่นฟันหักอุดหลอดลม สำลัก อาเจียน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต 
  • หากทำได้ ควรจับเวลา หรือถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับแพทย์
  • เมื่ออาการชักจบลง อย่าละเลย ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
  • เมื่ออาการชักนานเกิน 5 นาที หรือมีอาการชักแล้วหยุดแล้วชักอีก
  • โดยที่ยังไม่กลับมารู้สึกตัวดีในระหว่างชัก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

อาการชักมีหลายรูปแบบ

อาการชักในความคิดของหลายคนอาจเห็นได้จากการที่ร่างกายแข็งเกร็ง กระตุก ตาค้าง ฯลฯ แต่อันที่จริงแล้ว การชักมีอาการแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence Seizure) ก็เป็นอาการชักชนิดหนึ่งที่เกิดกับเด็กอายุระหว่าง 5-10 ปีเป็นส่วนใหญ่ และมักมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการเรียนรู้ การเรียนตกต่ำ มีอาการเหม่อลอย เด็กเหม่อลอยเป็นพัก ๆ หรือคุยอยู่แล้วนิ่งไป ไม่ปรากฏอาการทางกล้ามเนื้อ หรือปรากฏน้อยมาก บางรายเพียงกระพริบตา หรือทำปากขยุกขยิก อยู่เช่นนี้ประมาณ 150 วินาทีก็กลับมาเป็นปกติ แล้วก็กลับมาเป็นต่อ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นหลายสิบครั้งต่อวัน คนรอบข้างต้องหมั่นสังเกต และต้องไม่ละเลยที่จะปรึกษาแพทย์

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs