bih.button.backtotop.text

บริจาคไต ให้ชีวิตใหม่ 2 ชีวิต


โรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดอะไรและเมื่อไร เช่นเดียวกับ “คุณแนน” สาวน้อยวัยสดใสที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเมื่ออายุเพียงแค่ 26 ปี ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อฟอกเลือด จนได้รับคำแนะนำให้ปลูกถ่ายไต
 
“แนนขอฟอกเลือดไปก่อน คุณหมอเกลี้ยกล่อมตลอดเวลาให้เปลี่ยนไต จนจะครบ 1 ปี คุณหมอบอกอย่ารอเลย เพราะถ้ารอ จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ยิ่งเปลี่ยนไตเร็วเท่าไร ก็จะให้ผลดี ทุกคนในบ้านก็เห็นด้วยว่าให้เปลี่ยนไต”
 
การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเอาไตบริจาคของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว ซึ่งวิธีการปลูกถ่ายไตจะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติที่สุด โดยในปัจจุบันความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตค่อนข้างสูง ไตใหม่สามารถทำหน้าที่เป็นปกติใน 1 ปี ประมาณ 98% และ 5 ปี ประมาณ 95% (ข้อมูลของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์)
 
ทั้งนี้ แหล่งของไตบริจาคที่ผู้ป่วยจะได้รับมาจาก 2 แหล่ง แหล่งแรก จากคนที่มีชีวิต คือ พ่อแม่พี่น้อง หรือญาติ รวมถึงสามีภรรยาที่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีจนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยการบริจาคไตจากคนที่มีชีวิตจะต้องไม่เป็นการซื้อขายไต และแหล่งที่สองคือ ผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย   
 
ในกรณีของคุณแนน เธอโชคดีที่มี “คุณนิกกี้” น้องสาวแท้ๆ ที่พร้อมบริจาคไตให้หนึ่งข้าง แม้ผู้เป็นพี่สาวจะขอเข้าคิวรอรับบริจาคไต เนื่องจากไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องเจ็บตัว
 
“เพราะทุกคนในครอบครัวเต็มใจบริจาคไตให้พี่แนนอยู่แล้ว ร่างกายเราก็แข็งแรง ไม่ได้มีโรคอะไร ตอนที่คุณหมอบอกพี่แนนว่าควรจะเปลี่ยนไตได้แล้ว ก็ไปตรวจ HLA typing and cross-matching (ชนิดของเนื้อเยื่อและความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ) ของนิกเข้ากับพี่แนนได้ 100% ก็ตัดสินใจให้พี่แนน เพราะพี่แนนจะได้กินยากดภูมิน้อยลง”
 
โดยปกติการบริจาคไตของคนที่มีชีวิตอยู่ หากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง การบริจาคไต 1 ข้างสามารถมีชีวิตอยู่ได้ สำหรับโอกาสที่จะเกิดโรคไตไม่ว่าจะมีไตข้างเดียวหรือ 2 ข้างมีโอกาสเท่ากัน ถ้าดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง โอกาสที่จะเกิดโรคไตก็น้อยมาก 
 
เช่นเดียวกับคุณแนนและคุณนิกกี้ นับจากวันที่ปลูกถ่ายไตจนถึงวันนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว พี่น้องคู่นี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และยังดูแลตัวเองมากกว่าเดิม เหมือนที่คุณนิกกี้บอกว่า “อาจเป็นเพราะมีไตข้างเดียว ก็เลยระวังตัวเองมากขึ้น ลดเค็ม เน้นโปรตีนจากปลา ออกกำลังกายเยอะขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น”
 
นั่นแสดงให้เห็นว่า การเน้นการดูแลตัวเอง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและอาหารที่อาจมีผลต่อไต ระมัดระวังการรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่อาจส่งผลต่อไต รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงกีฬาหรือกิจกรรมที่มีการกระทบกระแทกที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับไตที่เหลืออยู่ 1 ข้าง มีความสำคัญที่ทำให้ทั้งผู้รับและผู้บริจาคไตมีร่างกายแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เฉกเช่นคนปกติ
 
 
ถ้าคุณเป็นคนที่รักสุขภาพ ใส่ใจดูแลตัวเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไตได้ และถ้าคุณเป็นคนที่มีสุขภาพดี ยังมีโอกาสเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคอวัยวะ เพราะการให้ของคุณจะเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ ช่วยให้ชีวิตของผู้ป่วยคนหนึ่งมีความสุขจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง
 

โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตถูกทำลาย ทำให้ไตทำงานได้น้อยลง ส่วนมากโรคไตเรื้อรังในระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการ โดยอาจมีอาการแย่ลงได้ทีละน้อย ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นโรคไต หลายท่านอาจได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคไตจากผลการตรวจสุขภาพ เช่นเดียวกับคุณแนน

โดยทั่วไปแล้วการตรวจสุขภาพจะทำการตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนที่รั่วออกมา เนื่องจากถ้าไตทำงานเป็นปกติ โปรตีนที่ผ่านการกรองจะถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกาย ตรวจเลือด เพื่อหาระดับครีเอตินิน (creatinine) ซึ่งเป็นของเสียในเลือดที่ไตจะกำจัดมาอยู่ในปัสสาวะและขับออก การที่ครีเอตินินมีระดับผิดปกติอาจแสดงถึงความผิดปกติของการทำงานของไต นอกจากนี้อาจมีการตรวจวัดความดันโลหิต เพราะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต ในคนที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ เป็นเวลานานๆ อาจเกิดไตวายได้
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs