bih.button.backtotop.text

โรคหน้าร้อนในเด็ก รู้ก่อนป้องกันได้

11 เมษายน 2562
ฤดูกาลต่างๆมาพร้อมกับกิจกรรมที่นำความสนุกสนานมาให้เด็กๆแตกต่างกันไป  ในขณะเดียวกันก็นำของแถมที่ไม่พึงปรารถนา เช่น โรคร้ายที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยและอาจต้องใช้เวลาตลอดฤดูกาลอยู่แต่บนเตียงนอนได้
 

ฤดูร้อน

ฤดูแห่งการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การไปเที่ยวพักผ่อนแถวชายทะเลที่เด็กๆโปรดปราน อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้น ดังนั้นในฤดูร้อน การติดเชื้อและโรคภัยไข้เจ็บในเด็กจึงเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่คิด
 
  • โรคหูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa หรือ Swimmer's ear)
เกิดจากน้ำเข้าหูและขังอยู่ในหู โดยเฉพาะหลังจากว่ายน้ำ สภาวะอากาศที่ร้อนชื้น อาจทำให้ความชุ่มชื้นในรูหูสูงผิดปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เด็กจะมีอาการหูบวม คันและอาจรู้สึกเจ็บปวดมาก เด็กบางคนอาจหูหนวกชั่วคราว ป้องกันได้โดยระวังไม่ให้น้ำเข้าไปขังอยู่ในช่องหูและเช็ดหูของเด็กให้แห้งหลังจากว่ายน้ำหรืออาบน้ำหรือใส่ที่อุดหูขณะที่เด็กอยู่ในน้ำ
 
  • โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
เป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในช่วงฤดูร้อน เกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น อาการท้องเสียจากเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหารหรือจากการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ หากเด็กติดเชื้อนี้อาจมีอาการถ่ายเหลวรุนแรง อาเจียน เป็นไข้ ร่างกายขาดน้ำ วิธีป้องกันคือ ดูแลเรื่องความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นและปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
 
  • โรคไอกรน (Whooping cough)
เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เด็กจะมีอาการไอที่มีเสียงหายใจลำบากตามมา เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีอาจมีความเสียงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอจนหยุดหายใจและอาจเสียชีวิตได้ ควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันและรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ
 
  • โรคผดร้อน (Heat rash)
เกิดจากรูขุมขนอุดตันและไม่สามารถขับเหงื่อได้ ทำให้เป็นตุ่มแดงที่ผิวหนัง อาจมีอาการคันและไม่สบายตัว ป้องกันโดยให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่เบาบางระบายเหงื่อได้ดีและไม่ทาโลชั่นหนาจนรูขุมขนอุดตัน โดยปกติผื่นสามารถหายได้เองภายในหนึ่งถึงสองวัน แต่หากเด็กเป็นผดร้อนและไม่หายเมื่อผ่านไปหลายวันควรพาไปพบแพทย์
 
  • โรคลมแดด (Heat stroke)
เด็กอาจเป็นโรคลมแดดเมื่อใช้เวลาอยู่กลางแดดมากเกินไป ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการสับสน สังเกตได้จากตัวที่ร้อนและผิวมีสีแดงผิดปกติ หากเป็นรุนแรงเด็กอาจหมดสติและเป็นอันตรายต่อชีวิต ป้องกันโดยให้เด็กอยู่ในที่ร่มระหว่างที่มีแดดและอากาศร้อนจัด จำกัดเวลาเล่นกลางแจ้ง สวมใส่เสื้อผ้าบางๆ รวมถึงให้เด็กดื่มน้ำเยอะๆเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
 
  • ไวรัสตับอักเสบเอ  (Hepatitis A)
เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบเอ เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุกดี มักเริ่มจากมีไข้ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เมื่อไข้ลดจะมีอาการตัวเหลือง และตาเหลือง ในเด็กเล็กมักมีอาการเพียงเล็กน้อย บางรายมีอาการไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโตจะมีอาการเป็นสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ใช้ช้อนกลางและล้างมืออยู่เสมอ
 
 
เรียบเรียงโดยกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs