bih.button.backtotop.text

เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน วันร้ายที่คาดไม่ถึงของ คุณทศพร หงสนันทน์

นี่คือบางส่วนของบทสนทนาระหว่าง Better Health กับ คุณทศพร หงสนันทน์ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่รักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ยังดูแข็งแรงและมีรูปร่างที่ดีแม้ในวัยขึ้นเลขหก และหากไม่บอกก็คงไม่มีใครรู้ว่าคุณทศพรเพิ่งผ่านช่วงเวลาวิกฤตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมาได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น

ชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

“ผมออกกำลังกายมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เล่นรักบี้ ยูโด ดำน้ำมาตั้งแต่อายุ 16 จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นผู้ฝึกสอนให้กับครูดำน้ำ (scuba diving instructor trainer) ผมว่ายน้ำสม่ำเสมอครั้งละ 1,000-1,200 เมตร เข้ายิมวันละชั่วโมงกว่า แล้วก็ยังชอบปั่นจักรยานโดยเฉพาะปั่นระยะไกล 60-70 กิโลเมตร เรียกว่าเล่นกีฬาต่อเนื่องมา ทั้งชีวิตไม่เคยหยุด” คุณทศพร เริ่มต้นเล่าถึงความชื่นชอบในการออกกำลังกายและ

นอกจากกีฬาแล้ว คุณทศพรยังมีไลฟ์สไตล์ที่กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยานยนต์ทางไกลข้ามประเทศ หรือการขับเครื่องบินส่วนบุคคลซึ่งการจะขึ้นบินได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจร่างกายและการทำงานของสมองอย่างละเอียดในส่วนของการมองเห็นและการได้ยินอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งตามกฎข้อบังคับของสถาบันเวชศาสตร์การบิน


“ผมคิดว่าตัวเองดูแลสุขภาพสม่ำเสมอนะ พยายามทำตัวให้แข็งแรง ถึงจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องอาหารมากแต่ก็ควบคุมน้ำหนักไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำงานก็มีเครียดบ้างไม่เครียดบ้างตามปกติ แล้วอยู่ๆ ก็เกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมา” คุณทศพรพูดถึง“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” หนึ่งในกลุ่มอาการของโรคหัวใจที่ทั้งชีวิตนี้ไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองจะเป็น

ไร้สัญญาณบอกเหตุ

วิกฤตสุขภาพครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ “วันนั้นเป็นวันที่ผมตั้งใจจะไปนอนที่วัดเพื่อเตรียมตัวอุปสมบทในสัปดาห์ถัดไป แต่พอไปถึงก็เริ่มมีอาการปวดแปลบๆ บริเวณด้านซ้ายของหัวใจเยื้องขึ้นไปทางไหล่ แล้วก็จุกแน่นแต่ซักพักก็หายไป เช้ามืดวันถัดมาก็ปวดอีก ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรแต่คิดว่าไม่ค่อยดีแล้วเลยขออนุญาตกลับบ้านก่อน กลับมาถึงบ้านสักพักใหญ่ก็ปวดที่ตำแหน่งเดิมอีกแล้วยังมีอาการชาที่ปลายนิ้วร่วมด้วย คราวนี้ผมเก็บของเลยบอกคนที่บ้านว่าจะเข้าโรงพยาบาล เพราะค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าต้องเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ”


ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาทีหลังจากที่คุณทศพรมาถึงโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เขาได้รับการวินิจฉัยจากนพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและต้องเข้ารับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนทันที

“คุณหมอตรวจวินิจฉัยแบบตรงประเด็นชัดเจน และรวดเร็วมาก พอทราบผล เคสผมก็กลายเป็นเคสฉุกเฉินทันที มีเจ้าหน้าที่หลายคนเข้ามาดูแล ทุกคนทำงานแข่งกับเวลา เพียงระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี สามารถทราบถึงตำแหน่งที่ผิดปกติและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผมต้องชมเชยจริงๆ เพราะถ้าช้ากว่านี้ผมคงแย่”

แข็งแรงช่วยได้

หลังทำบอลลูนเรียบร้อย คุณทศพรใช้เวลาพักในโรงพยาบาล 3 วันก่อนจะกลับไปบวชอีก 3 สัปดาห์ตามที่ตั้งใจไว้ และเมื่อสึกแล้วก็เริ่มออกกำลังกายตามปกติอีกครั้ง “ตอนนี้รู้สึกสดชื่นขึ้น แข็งแรงขึ้น ว่ายน้ำได้ระยะทางไกลขึ้น เหนื่อยน้อยลง นี่ก็กำลังเตรียมตัวจะไปขี่จักรยานยนต์ทางไกลอีกแล้ว” คุณทศพรเล่าอย่างอารมณ์ดี


ประสบการณ์ผ่านความเป็นความตายจากโรคร้ายครั้งนี้ คุณทศพรมีข้อคิดหลายประการมาแบ่งปันกัน นั่นคือ การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายมีแรงพอที่จะรับมือกับโรคได้ แต่อย่าเชื่อมั่นเกินไปว่าตัวเองแข็งแรงแล้วจะไม่เป็นโรคร้าย ขณะเดียวกันก็ควรมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน มีสติและไม่ประมาท โดยเฉพาะในกรณีของภาวะหัวใจขาดเลือด เพราะโรคสามารถพัฒนาจากอาการเพียงเล็กน้อยไปจนรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้

“สำคัญที่สุดคือ ต้องวินิจฉัยได้เร็ว”

ในการรักษาผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต อายุรแพทย์โรคหัวใจยืนยันว่าการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำและรวดเร็วคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

ผู้ป่วยมาถึงด้วยอาการอย่างไร

ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหน้าอกด้านซ้าย โดยเริ่มเจ็บตั้งแต่วันก่อนที่จะเข้ามารักษา พอเราทราบอาการก็ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทันที ซึ่งสามารถทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาทีนับตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึง ผลจากกราฟหัวใจบ่งชี้ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เนื่องจากมีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดแบบถาวร ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้และส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด


ในภาวะเช่นนี้ การวินิจฉัยที่รวดเร็วมีความสำคัญมาก เพราะหากล่าช้าเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประสิทธิภาพในการบีบตัวลดลงก็จะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคตได้ และหากมีการอุดตันของหลอดเลือด ขนาดใหญ่ที่ทำให้กล้ามเนื้อตายเป็นบริเวณกว้างก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน โดยโรคนี้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าสูงมาก

สาเหตุของโรคเกิดจากอะไรและมีวิธีการรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ มีความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูงน้ำตาลในเลือดสูง และมีไขมันที่พอกเป็นตะกรัน (plaque) เกาะตามผนังหลอดเลือด เมื่อ plaque แตกตัวก็ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือดผู้ป่วยจึงเริ่มเจ็บหน้าอกแต่เจ็บแบบไม่ต่อเนื่อง เพราะลิ่มเลือดยังอุดกั้นไม่หมด แต่พอเวลาผ่านไปลิ่มเลือดมีมากขึ้นจนอุดตันถาวร อาการเจ็บจึงไม่หายอีก เนื่องจากไม่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

กรณีนี้เราต้องเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุดเพื่อให้เลือดกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น เป็นการหยุดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งโชคดีที่ผู้ป่วยรายนี้มาถึงโรงพยาบาลเร็ว กล้ามเนื้อหัวใจยังไม่ถูกทำลายมากนัก หลังจากที่เราฉีดสีเพื่อให้ทราบตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันแล้วก็ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย (stent) ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดังเดิม คุณทศพรฟื้นตัวเร็วเพราะร่างกายแข็งแรงดีอยู่แล้ว สามารถเดินเหิน ทำกิจกรรมได้ตามปกติ

ปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการอย่างไร

ตอนนี้หัวใจทำงานแทบจะปกติ ก่อนออกจากโรงพยาบาล เราตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนอีกครั้งซึ่งผลออกมาค่อนข้างดี แต่ยังต้องเฝ้าระวังเพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้อีก และกรณีคุณทศพรก็ยังมีหลอดเลือดตีบประมาณร้อยละ 50-60 อยู่อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพียงแต่ต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดและยาลดไขมันในเลือดอย่างต่อเนื่อง เพราะการควบคุมไขมันได้ดีจะทำให้โอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดน้อยลงไปถึงกว่าร้อยละ 30

ต้องทำอย่างไรเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง

โรคนี้เป็นได้ทุกวัย แต่ถ้าคุณเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่ออกกำลังกาย เครียด สูบบุหรี่ ทั้งหมดนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้สูง ฉะนั้น ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรงหรือไม่ ถ้ามี ก็ควรเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพเพื่อให้แพทย์ดูว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และจะป้องกันหรือลดความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs