bih.button.backtotop.text

Health Briefs โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคหัวใจ

9 ใน 10 ของโรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้

หลายคนทราบดีว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตและทุพพลภาพของประชากรทั่วโลก แต่คุณทราบหรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว ร้อยละ 90 ของโรคนั้นสามารถป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากสาเหตุหลักๆ 10 ประการได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกายไขมันในเลือดสูง รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน แอลกอฮอล์ และความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ทั้งสิ้นน่าสนใจว่าหากไม่มีสาเหตุเหล่านี้ โอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงได้มากน้อยเพียงใด

นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่สถาบันการแพทย์หลายแห่งทั่วโลกร่วมกันทำขึ้นภายใต้ชื่อ INTER-STROKE โดยเป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนเกือบ 27,000 คนจาก 32 ประเทศทั่วโลกซึ่งผลปรากฏว่าความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหากกำจัดสาเหตุนี้ได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 48 และหากกำจัดได้ทั้ง10 สาเหตุ ก็เท่ากับลดโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงร้อยละ 90.7 ทีเดียวงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเป็นการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ต้นเหตุซึ่งได้ผลดีที่สุดอย่างแน่นอน

ไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคหัวใจอย่าปล่อยให้ตัวเองเหงา

บทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Heart ของอังกฤษระบุว่า ความโดดเดี่ยวอ้างว้างและแยกตัวจากสังคมนั้นอาจทำให้คุณเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้

นักวิจัยจาก University of York ประเทศอังกฤษ ใช้วิธีวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าสังคมจำนวน 23 ชิ้นครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างมากถึง 181,000 คน และพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือชอบปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจมากกว่าร้อยละ 29 และมีโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับคนที่มีเพื่อนมากและชอบสังสรรค์ ซึ่งเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่หรือเป็นโรคอ้วนเลยทีเดียว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพจิตใจนั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง โดยเฉพาะความเหงาซึ่งนอกจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองแล้วยังเคยมีการศึกษากันว่าอาจเป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอลง และทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

สมองหดตัวได้หากไม่เริ่มออกกำลังกาย

เชื่อหรือไม่ว่าความเฉื่อยชาในช่วงวัยกลางคนนั้นส่งผลต่อสมองยามสูงวัยของคุณได้อย่างคาดไม่ถึง

งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยกลางคนกับการหดตัวของสมองเมื่ออายุมากขึ้น โดยนักวิจัยได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปีจำนวน 1,100 คนเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี และพบว่าคนที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายในวัยกลางคนนั้นมีเนื้อสมองที่หดเล็กลงเมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง

ทั้งนี้ นักวิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจหรือมีภาวะสมองเสื่อมมาก่อนและให้ทุกคนเข้ารับการทดสอบความอดทนของระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตด้วยการวิ่งบนสายพานไฟฟ้าแล้วจึงเก็บข้อมูลไว้เพื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบแบบเดียวกันกับคนกลุ่มเดียวกันในอีก 20 ปีต่อมา แต่ในครั้งหลังนี้นักวิจัยได้เพิ่มการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และทดสอบการทำงานของสมองร่วมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยที่ระบุว่าการออกกำลังกายแบบปานกลางอาจเกี่ยวข้องกับการที่สมองแก่ตัวช้าลงชัดเจนอย่างนี้แล้ว ลุกไปออกกำลังกายกันเถอะ

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs